xs
xsm
sm
md
lg

“คณิต” ชง ปธ.สภาเบรก พ.ร.บ.ปรองดอง สับนิรโทษฯ ไร้หลักเกณฑ์ ป้องกันเหตุซ้ำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป.(ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน คปก.ทำหนังสือชงประธานสภาฯ เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และทบทวนเนื้อหา ชู 3 ประเด็น ชี้นิรโทษกรรมพ้นผิดต้องชัดเจน สับไร้หลักเกณฑ์ เสี่ยงสร้างวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล ป้องกันเหตุซ้ำไม่ได้ ซัดปล่อยผีขาดการตรวจสอบส่อลดความชอบธรรม จวกสภาไม่เปิดโอกาสภาคประชาชนร่วมยิ่งทำลายบรรยากาศ

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายทำหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....ออกไป เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และทบทวนเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถึงหลักความชอบธรรมด้วยกฎหมาย (Legality) หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of power) หลักนิติรัฐ (Legal State) หรือหลักนิติธรรม (Rule of law) และหลักสิทธิมนุษยชน (Human rights)

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีความเห็นและข้อสังเกต 3 ประเด็น คือ 1. การนิรโทษกรรมหรือการบัญญัติให้การกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมายไม่เป็นความผิด โดยให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและพ้นจากการกระทำความผิดอย่างสิ้นเชิงนั้น เป็นการยกเว้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครองแล้วแต่กรณี ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวต้องมีความชัดเจนและมีเหตุผลอันสมควร ขณะเดียวกัน คปก.เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดที่อาจได้รับการนิรโทษกรรมไว้อย่างกว้างขวาง และให้อำนาจผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ตีความขอบเขตการนิรโทษกรรมโดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณาถึงความชอบธรรมและความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการกระทำอันเป็นการทุจริต และก่อให้เกิดวัฒนธรรมการปล่อยตัวคนผิดลอยนวลอาจเป็นเหตุให้ผู้เสียหายและประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงซ้ำสองเกิดขึ้นอีก

2. การนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมทั่วไป โดยไม่พิจารณามูลเหตุจูงใจ บริบทสภาพแวดล้อม และความชอบธรรมหรือความสมเหตุสมผลในการกระทำความผิด และยังขาดกระบวนการตรวจสอบอย่างมีระบบย่อมขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย คือ ไม่มีการทบทวนถึงความเหมาะสมว่าการให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลใดๆ นั้นจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักการปรองดองหรือไม่ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างไร จะเป็นการลดความชอบธรรมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคและหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

และ 3. การที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเพียงพอ อีกทั้งความจริงเกี่ยวกับเหตุความขัดแย้งรุนแรงยังไม่ปรากฏ การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ แต่กลับกลายเป็นการทำลายบรรยากาศการสร้างความไว้วางใจในสังคมซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดการปรองดอง

อนึ่ง พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 มาตรา 19 (5) กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งที่เสนอโดย ส.ส. ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น