“ศาลปกครองสูงสุด” นั่งบัลลังก์พิจารณาคดี “คุณหญิงจารุวรรณ” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่ถอนคำสั่ง สตง.ยกเลิกตั้ง “พิศิษฐ์” รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครั้งแรก เจ้าตัวยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแจง ยันต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ขณะที่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ สตง.โผล่ยื่นดอกไม้ให้กำลังใจ
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑากา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่า ให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่องให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 ส.ค. 2553 ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยคุณหญิงจารุวรรณได้เดินทางมาด้วยตัวเอง พร้อมขอต่อศาลแถลงข้อเท็จจริงด้วยวาจา ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณได้ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการแถลง ข้อเท็จจริงที่ตนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนจะกว่าจะมีคำใหม่มารับตำแหน่งแทน อีกทั้งยังได้ยก พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 13 (1) และมาตรา 14 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยการไต่สวนครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 40 นาที
สำหรับการพิจารณาครั้งนี้นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งว่า นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี เป็นตุลาการผู้แถลงคดี จะอ่านแถลงการณ์ส่วนตน แต่ไม่มีผลผูกพันต่อองค์คณะ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกระบวนการของศาลปกครอง โดยตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า การออกคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ ที่ได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิศิษฐ์ไม่ชอบ เพราะคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปก่อน เนื่องจากมีอายุครบ 65 ปี จึงถือว่าเป็นการออกคำสั่งภายหลังออกจากตำแหน่งไปแล้ว ทั้งนี้ตุลาการเจ้าของคดีชี้แจงว่าเมื่อการพิจาณาของศาลปกครองสูงสุดเสร็จสิ้น จะมีการนัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง
คุณหญิงจารุวรรณให้สัมภาษณ์ภายหลังการไต่สวนนัดแรกว่า การไต่สวนครั้งนี้ตนได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีนี้ ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลปกครองเฉพาะการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น แต่ตาม พ.ร.บ.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 32 ระบุว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดังนั้นตนจึงไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจเสนอเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่าให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่ได้ถึงอายุ 70ปี ไม่ใช่พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 65 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าประกาศ คปค.เป็นบทเฉพาะกาลที่ยังมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงยืนยันว่าตนได้ดำเนินการถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไร แต่อยากให้เกิดความถูกต้อง ตอนนี้ตนต้องการเพียงสอนหนังสือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไต่สวนครั้งนี้ได้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินได้เข้าร่วมรับฟังการไต่สวน และภายหลังการไต่สวนเสร็จกลุ่มคนดังกล่าวได้นำดอกกุหลาบมามอบให้กำลังใจกับคุณหญิงในครั้งนี้ด้วย