xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองต้องรู้ ความยุติธรรมที่มาช้า คือ อธรรม

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีปัญหามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 แล้ว และเมื่อเรื่องยุติลงด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 เวลาผ่านมา 3 เดือนแล้วเรื่องก็ยังไม่ยุติราวกับว่าศาลปกครองสูงสุดพยายามที่จะลากยาวให้ปัญหายืดเยื้อต่อไป ให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเสียหายต่อไป เช่นเดียวกับความเสียหายของประเทศที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ยังไงยังงั้น

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 คุณหญิงจารุวรรณอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ มีปัญหาว่าพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ เนื่องจากมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปฯ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ข้อ 2 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550”

และมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 1 กำหนดว่า ให้มีการยกเลิกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และข้อ 3 กำหนดว่า ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งแล้วยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน อันเป็นการขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้อง (คุณหญิงจารุวรรณ)

ภาษาไทยง่ายๆ อย่างนี้ก็เกิดปัญหา คนในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยากจะเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทนคุณหญิงจารุวรรณ ทั้งวุฒิสภาบางคนที่อยากจะช่วยเพื่อนให้ได้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออย่างน้อยก็ได้รักษาการก็ยังดี ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินที่อ่านประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่เข้าใจ และทั้งศาลปกครองซึ่งก็ไม่เข้าใจประกาศคณะปฏิรูปการปกครองอีกเหมือนกัน

ในที่สุดต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

ก็ไม่ว่ากันละครับ ถ้าหากอ่านเข้าใจตีความรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ก็ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า

มาตรา 216 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ ของรัฐ

แล้วทำไมศาลปกครองจึงได้เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 51/2554 เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 หรือไม่ ไปเก็บอาไว้เฉยๆ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2554 ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองฉบับ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่างมีผลบังคับใช้อยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน กล่าวคือการใดที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กำหนดไว้ก็ให้เป็นอำนาจตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่บัญญัติว่า นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระมาตรา 33 แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญยังพูดไว้ชัดอีกว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตจรา 309 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองการใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าเป็นการอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ต่างกัน

ปัญหาตอนนี้ ขณะนี้ก็คือ ศาลปกครองจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม และจะต้องคืนตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพราะ

1. รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งศาลดังได้กล่าวแล้ว

2. ศาลปกครองส่งคำโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอง

3. เกิดความเสียหายขึ้นแล้วในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตั้งแต่ที่คิดว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นหน้าที่ไปแล้ว มีคนใหม่มาทำหน้าที่ และเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การบริหารงานบุคคลวุ่นวายไปหมด

ผลเสียเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เสียหายกับการตรวจเงินแผ่นดินเพราะรัฐบาลสมัครก็ดี สมชายก็ดี และอภิสิทธิ์ก็ดี ปล่อยให้องค์กรแห่งนี้ดิ้นรนกันเอาเอง เพราะองค์กรนี้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ตรวจสอบการทุจริต ไม่มีรัฐบาลไหนชอบ ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่สนับสนุน

ยิ่งรัฐบาลที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองอย่างทุกวันนี้ ยิ่งปล่อยให้เละเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น

ศาลปกครองอยากให้บ้านเมืองเป็นเช่นว่านี้หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น