xs
xsm
sm
md
lg

ไหนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร?

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

มีหมายจากศาลปกครองสูงสุดถึงนายสุวัตร อภัยภักดิ์ และ/หรือนายนิติธร ล้ำเหลือ และ/หรือนายบุญธานี ภู่วิจิตร ผู้รับมอบอำนาจผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้อุทธรณ์ ซึ่งก็คือ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

หมายดังกล่าวบอกว่าด้วยคดีเรื่องนี้ ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 9.30 น. และศาลได้สรุปข้อเท็จจริงของตุลาการมาพร้อมหมายนี้แล้ว

หมายดังกล่าวน่าจะสร้างความงุนงงสงสัยไม่เพียงแต่ทนายความทั้ง 3 ท่านที่ได้รับมอบอำนาจจากคุณหญิงจารุวรรณ หากแต่สร้างความงุนงงให้กับประชาชนทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง เพราะคดีดังกล่าวนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เป็นคำวินิจฉัยที่ 51/2554 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554

มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เขียนไว้ว่า

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ ของรัฐ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร?

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในกรณีนี้ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไป เว้นแต่บัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก และให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 ให้ดำเนินการสรรหา และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวัน

โดยในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลได้บัญญัติรับรองให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย และชอบโดยรัฐธรรมนูญไว้ชั้นหนึ่ง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 309 บัญญัติให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 อีกชั้นหนึ่งด้วย

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) ยังได้บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไปเช่นกัน จึงเห็นได้ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองฉบับ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่างมีผลบังคับใช้อยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน กล่าวคือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กำหนดไว้ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล

ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองการใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าเป็นการอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่ว่าการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ต่างกรณีกัน

ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) จึงมิได้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36

พูดกันอย่างชาวบ้านก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา แม้จะมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่

เว้นแต่ที่จะมีการสรรหาใหม่ซึ่งก็คงจะยากในช่วงนี้ เพราะรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 เลย

ที่ฟ้องกันอยู่นี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ฟ้อง ใครเป็นผู้ถูกฟ้อง ก็เพื่อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าใครคือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกันแน่ คนที่คุณหญิงจารุวรรณแต่งตั้งให้รักษาการ หรือแท้จริงแล้วคุณหญิงจารุวรรณยังเป็นอยู่

แค่นี้เองแหละครับ

ศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยออกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2554 ครึ่งปีมาแล้วครับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนูญนั้นผูกพันทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

ศาลปกครองก็ควรที่จะเป็นองค์กรตัวอย่างที่จะต้องทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ได้รับการบังคับใช้ ไม่ใช่ทอดเวลา หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อย่างที่ทำกันอยู่เวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น