xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” โผล่แจม อ้างศาล รธน.ไม่มีสิทธิรับคำร้องล้มแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุกฤษ มงคลนาวิน (แฟ้มภาพ)
“อุกฤษ” โผล่ร่วมวง แถแทนระบอบทักษิณ ระบุศาล รธน.รับคำร้องล้มแก้ รธน.ไม่ได้ อ้างไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม รธน.มาตรา 68 เช่นเดียวกับการสั่งให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ก็ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ระบุเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อันเป็นเหตุที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ให้ความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามที่มีบุคคลเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากเห็นว่าคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1) เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ 2) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว จึงมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 6 นั้น

พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ดังนี้

1. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

ดังนั้น เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ “บุคคล” หรือ “พรรคการเมือง” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68

ประกอบกับรัฐสภาได้ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลและพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... มาตรา 291/11 วรรคห้า ซึ่งอยู่ระหว่างการรอลงมติของรัฐสภาในวาระที่ 3 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้” ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาดังกล่าวไม่มีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุให้มีการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ประการใด

2. หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

จากบทบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะยื่นคำร้องด้วยตนเองโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อน และหากอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวต่อไป

การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยมีสิทธิ 2 ประการ คือ 1) เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ 2) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวโดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น ย่อมเป็นการตีความที่เกินเลยไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อได้ศึกษารายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่18 มิถุนายน 2550 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 68 พบว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเท่านั้นและหลักการตามมาตรา 68 ดังกล่าว เป็นการคงไว้ตามหลักการเดิมซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 และเมื่อได้ศึกษารายงานการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 13 วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2540 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 63 พบว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็เข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 63 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเช่นเดียวกัน เนื่องจากในการพิจารณา มาตรา 63 ดังกล่าว มีประเด็นที่ถกเถียงกันก็แต่เฉพาะในประเด็นว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดด้วยตนเอง หรือสามารถเสนอต่อพนักงานอัยการอื่นได้ด้วย และประเด็นว่าเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องแล้วจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นหรือไม่ยื่นได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวที่ประชุมก็ได้พิจารณาและมีความเห็นเป็นยุติว่า

วิธีการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้ด้วยตนเอง หรือจะเสนอผ่านพนักงานอัยการอื่นเพื่อให้พนักงานอัยการอื่นนั้นเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดต่อไปก็ได้ และเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องแล้วก็สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กล่าวคือ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวต่อไป แต่ถ้าหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไม่มีมูล อัยการสูงสุดก็ไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังพบว่า ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว ได้มีผู้ขอแปรญัติแก้ไขความในมาตรา 63 วรรคสอง ว่า “ในกรณีที่พรรคการเมืองใดกระทำตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นทราบถึงการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงสิทธิการดำเนินคดีอาญาต่อผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลผู้กระทำการดังกล่าว” แต่คณะกรรมาธิการฯ ก็มิได้เห็นด้วยกับผู้ขอแปรญัตติ และก็ไม่มีผู้ใดติดใจในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

3. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 6 นั้น

มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวนหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้” นั้นเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในการเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวนหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาที่ต้องปฏิบัติตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้านั้น ก็แต่เฉพาะ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีลักษณะตาม มาตรา 216 วรรคสี่เท่านั้น กล่าวคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงหรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีหลังจากได้ผ่านกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว มิใช่เป็นเพียงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในระหว่างการพิจารณาเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นว่า 1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68

2. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาดและไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแต่อย่างใด

3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจนั้น จึงเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อันเป็นเหตุที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้ โดยให้ ส.ส.1 ใน 4 หรือประชาชนเข้าชื่อ 2 หมื่นชื่อใช้สิทธิยื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น