xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ปล่อยไก่ “ประเทศซิดนีย์” ย้อนอดีตพบพูดคำผิด-ความหมายเพี้ยน นับสิบครั้ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ASTVผู้จัดการ - นายกรัฐมนตรีประหลาดจนโลกไม่ลืม ยกเมืองท่าออสเตรเลีย “ประเทศซิดนีย์” กลางรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ตรวจสอบย้อนหลังพบคำผิด-ความหมายเพี้ยนอย่างน้อย 10 ครั้ง ไม่นับพูดภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ



วานนี้ (9 มิ.ย.) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพูดผิดบ่อยครั้ง โดยล่าสุดในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ได้มีการเอาเทปบันทึกภาพภารกิจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปเยือนประเทศออสเตรเลียมาออกอากาศ โดยในตอนหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “ได้ขอว่าให้มีป้ายที่เป็นสัญลักษณ์ว่าไทยทาวน์บ้าง ถ้าตรงนี้เองก็จะส่วนหนึ่งก็จะทำให้อาหารไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวของประเทศซิดนีย์ (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) ด้วยค่ะ” ทั้งนี้ ซิดนีย์เป็นเมืองหลวงในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศ แต่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เป็นเมืองท่าและเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเมืองหลวงของออสเตรเลียคือ แคนเบอร์รา ในภายหลังได้มีการนำประโยคดังกล่าวจัดทำเป็นวิดีโอคลิปเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ แล้วถูกส่งต่อพร้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม การพูดแบบผิดๆ ถูกๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะจากการตรวจสอบย้อนหลังของผู้สื่อข่าว ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ลงพื้นที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ในตอนหนึ่งได้กล่าวกับประชาชนที่มารอต้อนรับตอนหนึ่งว่า “หลังจากนี้จะมีการประชุมในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด ในส่วนของการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทางด้านกองทัพที่จะมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะจุดผ่านแต่ละจุด ตั้งแต่สนามบิน และเส้นทางที่คมนาคมต่างๆ รวมถึงสถานที่พัก โรงแรม โรงพยาบาล หรือส่วนต่างๆ ที่มีบริเวณเป็นที่สาธารณะ ก็จะมีการบูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่อยู่บริเวณแถบนี้และ จังหวัดหาดใหญ่ (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) ด้วย” ซึ่งในความเป็นจริง หาดใหญ่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา

จากนั้นวันที่ 7 เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน โดยพูดถึงการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาตอนหนึ่งว่า “การเดินทางไปประชุมอาเซียนก็ได้ใช้เวทีนี้ในการอธิบายชี้แจงให้ประเทศกลุ่มอาเซียนได้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะมีออกมาเพื่อดูแลปกป้องคนไทยและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีความเข้าใจ โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเสียชีวิตด้วย โดยดิฉันได้คุยกับทาง ประธานาธิบดีมาเลเซีย (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเขาเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการประสานงานอย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งถือเป็นเวลาที่ทันท่วงทีในการอาศัยเวทีนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากกลุ่มอาเซียน” ซึ่งในความเป็นจริง ประเทศมาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประมุขแห่งรัฐมีตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดี ส่วนผู้นำฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายนาจิบ ราซัก เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในรอบปี 2554 ช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ กองทัพเรือเสนอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากประเทศเยอรมนีจำนวน 6 ลำ เป็นงบประมาณ 6.9 พันล้านบาท แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กระทั่งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 ก.ย.54 นักข่าวได้ถามนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง และได้รับคำตอบว่า “จำไม่ได้ วันนี้ ครม.พิจารณา 37 ข้อ จริงๆ แล้วในส่วนของ ครม.นั้นไม่ได้ติดขัด ในส่วนของ เรือดำน้ำ ผ่านเรียบร้อยแล้วค่ะ ส่วนของแบล็กฮอว์กนั้นยังติดเรื่องของเทคนิค เรื่องของรายละเอียดราคาเท่านั้น ก็ให้ไปหารือกับทางด้านของสำนักงบใหม่” แต่หลังจากนั้นไม่นานได้มีการเช็กข่าวแล้วพบว่า เรื่องเรือดำน้ำยังไม่ผ่านและไม่ได้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้น จนนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องเดินมาชี้แจงกับนักข่าวว่า นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดคิดว่านักข่าวถามถึงเรื่องเฮลิคอร์ปเตอร์ติดอาวุธ จำนวน 8 ลำ ที่กองทัพบกเสนอจัดซื้อจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่อีกด้านหนึ่ง นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับชี้แจงกับนักข่าวว่า นายกรัฐมนตรีอาจฟังผิดคิดว่านักข่าวถามถึงเรื่องเรือดันน้ำ ที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม

กระทั่งวันที่ 1 ต.ค.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้จัดรายการวิทยุเป็นครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งออกอากาศทั่วประเทศ ในตอนหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “จะดูตั้งแต่ในเรื่องของระบบบริหารจัดการน้ำอย่าง เป็นระบบ ป้องกันภัยซึ่งต้องมีการเตือนภัย เพราะในหลายๆ พื้นที่นั้นระบบการเตือนภัยนั้นก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงระบบการชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่เรื่องของการมองเรื่องของการปลูกป่า หรือ การปลูกหญ้าแพรก (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) เพื่อชะลอน้ำในส่วนของการไหลของน้ำนะคะ หรือการทำแก้มลิง โครงการแก้มลิงในการรองรับ” ซึ่งโดยข้อเท็จจริง หญ้าแพรก คือหญ้าที่ขึ้นตามผิวดิน ซึ่งนักเรียนนำมาใช้ในพิธีไหว้ครู แต่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นคือ การปลูกหญ้าแฝก ซึ่งเป็นหญ้าที่มีใบเป็นกอสูงใหญ่ มีรากลึกแผ่กระจายและสานกันแน่นอยู่ใต้พื้นดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความชุ่มชื้นใต้พื้นดิน และป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ประโยชน์ของหญ้าแฝกคือช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน แต่ไม่ได้ช่วยชะลอกระแสน้ำอย่างที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจ

ต่อมาวันที่ 2 ต.ค. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงพื้นที่ประตูน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี หลังจากมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลมตามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มวลน้ำทะลักท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ทั้งสองฝั่ง และกระแสน้ำได้ตัดถนนบริเวณเชิงสะพานติดกับประตูน้ำจนขาดและมวลน้ำไหลเชี่ยวกรากมุ่งหน้าไปยัง จ.ลพบุรี โดยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงวิธีการชะลอน้ำว่า “เทคโนโลยีต่างๆ ในเรื่องของการที่จะใช้เหล็กลงไปทำ ซึ่งในเรื่องของการที่ทำนั้นเราอาจจะไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ แต่ว่าเราก็ได้มีการเร่งหาวิธีการได้แล้ว ในแง่วิธีการก็คงจะใช้ หินโยนลงไปในทะเล (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะต้องใส่ตาข่ายลงไปนะคะ ซึ่งตรงนี้ก็จะทำตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ” ซึ่งในความเป็นจริง มวลน้ำที่ซัดเข้าท่วมพื้นที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และจังหวัดสิงห์บุรีอยู่ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งไม่มีแผ่นดินติดกับทะเล

ขณะที่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงข่าวผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องเตือนภัยสถานการณ์น้ำท่วม ในนามศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ปรากฏว่า การพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตะกุกตะกักหลายครั้ง ทำให้ผู้ชมฟังไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ในตอนหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “อีกบริเวณหนึ่งนะคะ ก็คือบริเวณ ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร นั่นคือบริเวณมีนบุรี หนองจอก ลาดพร้าว (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) ซึ่งมีคลองระพีพัฒน์ คลองหกวาสายล่าง และคลองแสนแสบ” ซึ่งโดยข้อเท็จจริงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คือ เขตลาดกระบัง ส่วนเขตลาดพร้าวอยู่ในระหว่างพื้นที่ชั้นในกับพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร

ส่วนเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อประชาชน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเวลานั้นในตอนหนึ่ง กล่าวว่า “ก็ได้มีการประชุมกันนะคะจากคณะนี้ ทั้งในส่วนของรัฐบาลและก็กรุงเทพมหานคร ก็เห็นด้วยค่ะกับข้อเสนอของคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำ โดยการเร่งรัดนะคะที่จะมอบหมายการทำงานเป็นช่วงๆ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ในช่วงของน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเราก็จะมีมาตรการในการที่จะเร่งรัดระบายน้ำในช่วงระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง วันที่ 5 พฤศจิกาคม (คำพูดของนายกรัฐมนตรี) นี้นะคะ” ซึ่งในความเป็นจริงชื่อเดือนแต่ละเดือนที่สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดตั้งชื่อเดือนมกราคม ถึงธันวาคม ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนั้น เดือนพฤศจิกายน มาจากการสมาสกันของคำว่า พิจิก หรือพฤศจิก ที่หมายถึงแมงป่อง กับคำว่า อายน ที่แปลว่าการมาถึง

และเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความผิดพลาดตรงที่ตัวเลขรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวนทั้งสิ้น 53,918 ล้านบาท (ห้าหมื่นสามพันเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท) แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อ่านเป็น “ห้าหมื่นสามแสนเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท” และเมื่อวันที่ 16 พ.ย.54 ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงข่าวร่วมกับนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้คำว่า Overcome ซึ่งแปลว่า เอาชนะ มีชัยต่อ แทนที่จะเป็นคำว่า Welcome ซึ่งแปลว่ายินดีต้อนรับ นอกจากนี้ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ถ้อยคำ พบว่าได้ระบุคำว่า “inaudible” หรือ “ได้ยินไม่ชัด” ในคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 12 คำ ซึ่งเป็นการการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่กำหนดคุณสมบัติเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน

สำหรับกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดผิด หรือพูดในเชิงทำให้ความหมายผิดเพี้ยนนั้น ไม่นับรวมข่าวลือที่ถูกพูดถึงในหมู่ผู้สื่อข่าวและบรรดาผู้ติดตามไปร่วมประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 42 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 ได้ยินคำว่า “คอ-นก-รีต” ซึ่งหมายถึงเขื่อน “คอนกรีต” จากปาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่จากการค้นหาคลิปคำพูดดังกล่าวกลับไม่พบ แต่ถึงกระนั้นในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบคำถามผู้จัดรายการเสวนา พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดตะกุกตะกักและฟังไม่รู้เรื่อง กระทั่งผู้ดำเนินการเสวนาบนเวทีถึงกับพูดว่า “Madam Prime Minister I have to also say that you speak better English than I do.” รวมทั้งกรณีการนั่งหารือกับบุคคลสำคัญต่างประเทศ ที่หลายครั้งพบว่าเธอจะก้มดูโพย อย่างกรณีการพูดคุยกับนางอองซาน ซูจี เมื่อการเดินทางไปเยือนสหภาพพม่า เป็นต้น

สรุปคำผิด-ความหมายผิดเพี้ยนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

• 27 ก.ย. 54เรือดำน้ำ (เรือดันน้ำ)
• 01 ต.ค. 54หญ้าแพรก (หญ้าแฝก)
• 02 ต.ค. 54ใช้หินโยนลงไปในทะเล (จ.สิงห์บุรี ไม่มีพื้นที่ติดทะเล)
• 25 ต.ค. 54ลาดพร้าว (ลาดกระบัง)
• 29 ต.ค. 54พฤศจิกาคม (พฤศจิกายน)
• 09 พ.ย. 54ห้าหมื่นสามแสนเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท (ห้าหมื่นสามพันเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท)
• 16 พ.ย. 54Overcome (Welcome)
• 02 เม.ย. 55จังหวัดหาดใหญ่ (อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา)
• 07 เม.ย. 55ประธานาธิบดีมาเลเซีย (นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย)
• 09 มิ.ย. 55ประเทศซิดนีย์ (เมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย)
กำลังโหลดความคิดเห็น