รองนายกฯ ค้านคำสั่งศาล รธน. อ้างไม่ใช่คำวินิจฉัย ปัดแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง ไม่ฝ่าฝืน ม.68 ถามตุลาการรู้ได้ยังไง ส.ส.ร.จะรื้อโครงสร้างหรือกลัวรื้อศาล แนะถอย หยันงานนี้ต้องผิดหวัง เชื่อมีลุ้นยื่นถอด แย้มถ้าแก้โละศาลคู่แน่ เย้ยฝ่ายค้านชงปิดประชุมกินยาผิดซอง โอ่ พ.ร.บ.ปรองดองถ้าใช้ฉบับตนเรียบร้อยไปนานแล้ว ชี้ต้องอธิบายให้ชัด ชูเด้ง “2 วิ” เหมาะสมคงไม่เกี่ยวเมินปราบม็อบ แย้มแกนนำ พธม.บู๊เข้าข่ายถูกถอนประกัน
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.15 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาและมีคำสั่งชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะไม่ใช่คำวินิจฉัย หรือคำตัดสินที่จะมีผลผูกพันกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งตนเห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจซึ่งฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ตนฝากถามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนว่าวันเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554 ไปอยู่ไหนหรือนอนหลับ ตนได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เอาอำนาจตามมาตรา 291 ที่สำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญรู้ได้อย่างไรว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปรื้อโครงสร้างการปกครอง หรือกลัวว่าจะมีการรื้อศาลรัฐธรรมนูญ
“การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 68 แต่อย่างใด และหากสมมติว่ามีการตีความเข้าข้างว่าเข้าข่ายก็ต้องดูที่วรรค 2 ซึ่งผู้ร้องต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีความเห็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้ไปมุบมิบยื่นกันเอง ส่วนกรณีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามองในแง่ดีที่จะมีการตรวจสอบนั้น ผมอ่านไปก็ขำไป มีที่ไหนก่อเกิดศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐสภา ทั้งๆที่มีอำนาจพิจารณากฎหมาย พิจารณายุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิต่างๆ ท่านถอยไปเถอะ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภา” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า ในส่วนของการเดินหน้าลงมติวาระ 3 นั้นต้องฟังพรรคก่อน ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากสภาเดินหน้าต่อจะนำไปสู่การยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมืองนั้น เขาตั้งธงอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบวรรคแรก และไม่ทำตามขั้นตอนวรรคสอง นอกจากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนไม่ได้จบกฎหมายมหาชน ส่วนใหญ่เป็นนิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิต เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีลักวิ่งชิงปล้นมา ซึ่งครูบาอาจารย์ที่จบกฎหมายมหาชนมาก็ออกมาแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันซึ่งการมีความเห็นต่างกันในกฎหมายฉบับเดียวกัน ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์กลับมาอีกครั้ง ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า จะออกมายังไงก็แล้วแต่ ตนคิดว่างานนี้ต้องผิดหวัง เพราะไม่มีใครออกไปที่ไหนอีกแล้ว พวกนี้มั่นคงแน่นแฟ้นกันดี ต่อข้อถามว่า ต้องถึงขั้นลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนว่าหากศาลรัฐธรรมนูญยังดื้อดึง สุดท้ายก็ต้องพัฒนาไปถึงขั้นนั้น และจากสายข่าวตนรายงานว่าจะมีคนไปร้องทุกข์ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อข้อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่การแก้รัฐธรรมนูญจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบศาลนั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ในส่วนของระบบศาลยุติธรรมนั้นจะไม่แตะต้อง แต่ระบบศาลคู่ควรกลับบ้านได้แล้ว ซึ่งตนไม่เคยเห็นด้วยกับระบบนี้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแล้ว เพราะตรวจสอบไม่ได้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบเหมือนเทวดา ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้รัฐบาลปิดประชุมสภานั้น เป็นประเภทกินยาผิดซอง เรื่องนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร
ร.ต.อ.เฉลิมยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการต่อต้านพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับว่า ถ้าเกิดเป็นร่างของตนเองก็เรียบร้อย เพราะร่างของตนไม่เหมือนกับ 4 ฉบับที่เสนอกันอยู่ในขณะนี้ และหากเสนอเมื่อไรก็เหมาะสมกับเวลา ส่วนร่าง 4 ฉบับนี้จะแท้งหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ ไม่อยากแสดงความเห็น เพราะไม่ใช่ร่างของตน
“ผมเคยบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรื่องนี้มันต้องสร้างความเข้าใจให้ตกผลึก และอธิบายให้ชัด พอเสนอหลายร่างคนก็จะงง เรื่องนี้มันต้องอธิบาย แต่ละมาตราให้ชัด อย่างที่ผมทำไว้ 6 มาตรา ถ้าคนเห็นแล้วรับรองไม่มีใครคัดค้านแน่ อาจจะมีบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ว่ามันต้องอธิบายได้ ถ้าไม่อธิบายพัลวัน พัลเกอย่างนี้มันก็ยุ่ง” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสคัดค้านขนาดนี้ รุกลามถึงขนาดถึงป้ายคัดค้านทั่วประเทศ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเจอร่างตน รับรองต้องเก็บป้ายแน่ เมื่อถามว่า ดูแนวโน้มแล้ว 4 ร่างนี้คงเดินลำบากใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะตนไม่ใช่เจ้าของเรื่อง เมื่อถามอีกว่า ประชาชนตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะเร่งทั้งเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง และรัฐธรรมนูญ ทั้งที่งบประมาณก็ผ่านไปแล้ว ก็ควรจะบริหารประเทศไปก่อน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐบาลได้ปราศรัยไว้กับประชาชนก็ต้องทำ และการทำก็ไม่ใช่ว่าจะเสร็จง่ายๆ มีขั้นตอนดีกว่าการไปออกพระราชกำหนดอย่างนั้นถึงเรียกว่าเผด็จการ แต่นี่เราออกเป็น พ.ร.บ. ยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะไม่มีเรื่องการตาย 198 ศพ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการมีคำสั่งโยกย้าย พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พ้นจาก ผบช.น.ให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน และมีคำสั่งให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน การโยกย้ายทั้ง 2 คน เกี่ยวข้องกับเรื่องการควบคุมม็อบหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนคงไปยุ่งเรื่องของเขาไม่ได้ ตนดูแลระดับนโยบาย แต่คิดว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว และเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมม็อบไม่ดี จน ส.ส.เข้าประชุม ครม.ไม่ได้ และวันนั้นตนก็ไม่เห็นว่า จะเป็นปัญหา ส.ส.ก็เข้าประชุมสภาฯได้ แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อยากให้เกิดการปะทะ เพราะตนให้นโยบายไปแล้ว อย่าให้เกิดความรุนแรง อะไรที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ไม่ดี เราจะไปเลียนแบบทำไม
เมื่อถามว่า คนที่เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็มีคดีติดตัวอยู่ ทำไมจึงปล่อยให้มีการนำม็อบได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า นี้แหละตนก็สงสัยเหมือนกัน เพราะแกนนำเหล่านี้ยังคงอาละวาดฟาดงวงฟาดงาตลอด แต่เชื่อว่าอีกหน่อยก็ตกผลึก เพราะศาลเขามีเงื่อนไขว่าเมื่อประกันตัวมาแล้วอย่าสร้างความวุ่นวาย