xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ”ห่วง ดันแก้ รธน.วาระ 3 ผ่านสภา กดดันองค์พระประมุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ประเภทสรรหา สายนักวิชาการ (ภาพจากแฟ้ม)
“ส.ว.คำนูณ” ห่วง สภาดึงดันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ฟังเสียงตุลาการ รธน. จะสร้างความหนักพระทัยให้องค์พระประมุข เมื่อเลขาธิการสภานำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ถามคิดรอบคอบและจงรักภักดีแน่หรือ ชี้การใช้อำนาจตาม ม.68 เป็นการต่อต้านรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 7 ต่อ 1 รับคำร้องให้วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ผ่านการพิจารณาของสภาในวาระ 2 ไปแล้ว ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีคำสั่งให้รัฐสภางดการพิจารณาในวาระ 3 ไว้ก่อนนั้น อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรครัฐบาล และกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ได้แสดงท่าทีไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว และมีรายงานว่าประธานรัฐสภาและวิปรัฐบาลได้นัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เพื่อหารือถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ในวาระ 3 ต่อไป

ต่อกรณีดังกล่าว นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเภทสรรหา แสดงความคิดเห็นไว้ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ถ้าประธานรัฐสภาเดินหน้านัดประชุมลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับมาตุฆาตวาระ 3 โดยไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ถือเสียว่าศาลไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณผลักดันกันให้ชนให้ลุยให้เลิกปรานี โดยไม่พิจารณาบริบทอื่นประกอบ ทั้งรากฐานของปัญหาและผลใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เข้าไปร่วมประกอบกรรมให้พิธีกรรมสำเร็จ ก็เท่ากับโยนภาระในการตัดสินพระทัยทั้งปวงไปให้องค์พระประมุขในเวลาที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย / ทุกท่านจะถูกตั้งคำถามสำคัญว่าเยี่ยงนี้ถือเป็นการกระทำที่รอบคอบและจงรักภักดีด้วยใจจริงแล้วหรือ ?”

นายคำนูณได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในลักษณะ “มาตุฆาต” ฉีกรัฐธรรมนูญ 50 ยึดอำนาจรัฐสภาไปให้องค์กรอื่นเขียนใหม่ทั้งฉบับอย่างไร้กรอบนั้นก็คือ Constitutional Coup d'Etat หรือการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ การมีคำสั่งรับคำร้องและออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 โดยอาศัยการตีความมาตรา 68 วรรคสอง อย่างกว้างของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ Counter-Constitutional Coup d'Etat หรือการต่อต้านการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญเช่นกัน

“สังคมไทยมักเป็นอย่างนี้ พูดแต่ “ปรากฎการณ์” ที่เป็น “ปลายเหตุ” ไม่พยายามสืบสาวราวเรื่องไปถึง “ต้นเหตุ” พูดแต่ด้านใดด้านหนึ่งเพียง “ด้านเดียว” ไม่พยายามสืบสาวราวเรื่องให้ “รอบด้าน” พูดแต่ด้านการใช้อำนาจของอำนาจตุลาการ ไม่พยายามพูดถึง 1. การเติบใหญ่ของอำนาจบริหาร 2. การไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจบริหารได้ตามทฤษฎีของอำนาจนิติบัญญัติ เพราะเสียงข้างมากในอำนาจนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกันกับอำนาจบริหาร และมีข้อบังคับพรรคการเมืองกำกับอยู่ 3. การที่อำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงอำนาจตุลาการโดยกฎหมายปรองดองมาตรา 5

“มาตรา 68 ที่หลายคนไม่ค่อยได้พูดถึงกันก็คืออยู่ในส่วน “สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีเพียง 2 มาตรา คือ 68 นี้ และมาตรา 69 ซึ่งเป็นสิทธิในการต่อต้านโดยสงบและสันติของประชาชน เมื่อศาลท่านตีความมาตรา 68 อย่างกว้างเพื่อยับยั้งการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญแล้วยังมีแนวโน้มจะถูกต่อต้าน ประชาชนจะเริ่มลงมือปฏิบัติตามมาตรา 69 หรือไม่ ??” นายคำนูณระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น