xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ แขวนร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ตีความ “คนไทยพลัดถิ่น” ไม่ตกผลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมวุฒิฯ มีมติแขวนร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ให้ กมธ.ทบทวนใหม่ หลังถกเครียดตีความคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” ไม่ตก “คำนูณ” เสนอให้ถอนร่างเกรงอนาคตสับสน เพิ่มเวลาให้ ส.ว.คิดรอบคอบก่อน

วันนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทรบุรี เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนการยุบสภาเมื่อเดือน พ.ค.54 และคณะรัฐมนตรีได้ยืนยันกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ กรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแก้ไขใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 3 นิยามของคำว่าคนไทยพลัดถิ่น และมาตรา 4 ที่ได้เพิ่มขอเพิ่มข้อความในมาตรา 7/1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ได้มีการอภิปรายคัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯเนื่องจากเห็นว่าการกำหนดนิยามคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” นั้น มีความคลุมเครือ และอาจเป็นผลทำให้คนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศเพื่อขอสัญชาติไทยได้ โดย นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่จะให้สัญชาติกับคนไทยพลัดถิ่นที่แน่นอน ระบุเพียงว่า ผู้ที่มีเชื้อสายไทย ที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ดังนั้นอาจจะทำให้ตีความหมายได้ว่าหมายรวมถึงคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย รวม 13 ครั้งที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นจะมีเครื่องพิสูจน์ได้อย่างไรว่า บุคคลที่มาขอสัญชาตินั้นเป็นคนไทยโดยแท้จริง

“ในร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ดังกล่าวให้สิทธิ์เฉพาะบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกาะกง และตะนาวศรีเท่านั้น ผมกังวลว่าคนไทยที่อยู่บนภูเขานั้นอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายอนุรักษ์ กล่าว

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า นิยามในมาตรา 3 ยังถือว่าไม่มีความชัดเจนและอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ในอนาคต ดังนั้น ประเด็นนี้ตนขอเสนอญัตติให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ถอนร่างดังกล่าว ออกไปพิจารณาใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายเป็นไปอย่างเคร่งเครียด จนประธานในที่ประชุมต้องสั่งพักการประชุม ประมาณ 15 นาที เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาในเนื้อหา หลังพักการประชุม นายมงคล กล่าวว่า เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของคนไทยพลัดถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย จำนว 2 หมื่นคน ทางกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วว่า จะตัดมาตรา 7/1 ออกไป และเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้มาขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น และให้นำข้อความที่ว่า “คณะรัฐมนตรีกำหนด ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติ สัญชาติ จะมีผลบังคับใช้” ต่อท้ายมาตรา 3

ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวว่า การอภิปรายประเด็นดังกล่าวมีความเห็นที่แตกต่างในหลักการ จะปรับปรุงแก้ไขในนิยามมาตรา 3 ใหม่ โดยนำ มาตรา 7/1 มาผนวกหากเป็นเช่นนั้นคงไม่ติดใจ แต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับที่เป็นมา หลังจากที่รับฟังความเห็นของสมาชิกหากเห็นว่าควรปรับปรุง กรรมาธิการฯ ควรถอนและนำกลับไปพิจารณาก่อนที่เสนอต่อที่ประชุมในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกมีเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ดังกล่าวด้วย

ด้าน นายมงคล ลุกขึ้นชี้แจงว่า หากสมาชิกเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นให้กรรมาธิการ ถอนเพื่อไปพิจารณาใหม่ พร้อมที่จะปฏิบัติตาม จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติตามญัตติที่นายคำนูณ เสนอ ผลปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่ คือ 50 เสียง มีมติให้กรรมาธิการ ถอนร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่) พ.ศ.... ออก เพื่อกลับไปทบทวน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ที่บริเวณที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ฝั่งเขาดิน ได้มีกลุ่มเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง, จ.ประจวบคิรีขันธ์ และ จ.ตราด ประมาณ 70 คน ได้ชุมนุมเรียกร้องขอให้ตัดมาตรา 7/1 ออกจากร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในมาตรา 7/1 ได้ตัดสิทธิ์คนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียน อีกทั้งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยไม่เคยลงพื้นที่สำรวจกลุ่มของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น