xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ชี้รัฐบีบแบงก์ชาติ เสี่ยงชาติล้มละลาย เย้ยเกาเหลาทีม ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์  จาติกวนิช
อดีต รมว.คลัง จี้ “ธีระชัย” ไขก๊อกหากขวางรัฐซุกหนี้ให้ ธปท.ไม่สำเร็จ เย้ยเกาเหลาทีมเศรษฐกิจ ห่วงบีบแบงก์ชาติปั๊มเงินสนองโครงการประชานิยม ส่งผลค่าครองชีพสูงทำ ปชช.เดือดร้อนถ้วนหน้า ประเทศเสี่ยงล้มละลาย ติงแก้ กม.เพิ่มอำนาจคลังตั้งกองทุนฟื้นฟู 3.5 แสนล้านส่อขัด รธน.

วันนี้ (29 ธ.ค.) นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ที่อนุมัติให้โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ธปท.และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังมีความกังวลต่อภาพความขัดแย้งระหว่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กับนายธีระชัย ภูนารถธนานุบาล รมว.คลัง ที่มีความเห็นแตกต่างกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทั้งคู่เป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่กลับมีความเห็นที่ตรงกันข้ามในเรื่องนโยบายของประเทศ สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน ตนเห็นด้วยกับนายธีระชัยที่จะทัดทานนโยบายที่จะเป็นอันตรายต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในทางการเมืองหากเกิดความขัดแย้งขนาดนี้ตนคิดว่าคนใดคนหนึ่งต้องออกจาก ครม.ไป

“ผมคิดว่าเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะก่อนจะมีการเสนอเรื่องเข้า ครม.ควรหารือกันก่อนให้ตกผลึก ภาพที่ออกมายิ่งทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเพราะความขัดแย้งไมได้มีเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ยังมีการตีกลับการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติที่ต้องเสนอ ครม.ทุกปี แต่เหมือนกับไม่มีการคุยกันมาก่อนจนถูกตีกลับ สำหรับการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้แบงค์ชาติเมื่อรมว.คลังไม่เห็นด้วยและเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการเรื่องนี้ ผมคิดว่ามีวิธีเดียว คือ ต้องทำให้นายกฯ และครม.เปลี่ยนใจแก้มติใหม่ ถ้าทำไม่ได้ในเรื่องสำคัญและใหญ่ขนาดนี้ รมว.คลังก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้ รัฐบาลควรไปหา รมว.คลังคนใหม่มาสนองนโยบายตัวเอง แต่ก็ต้องบอกว่าแนวคิดที่รัฐบาลทำเป็นแนวคิดที่ผิด”

นายกรณ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังไม่ยอมรับความจริง เพราะหนี้กองทุนฟื้นฟูถือเป็นภาระของประเทศ ซึ่งหลายรัฐบาลนับจากปี 40 เป็นต้นมาต้องรับบาปรับกรรมมาโดยตลอด แต่ก็บริหารจัดการจนเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ แม้จะต้องแบกภาระหนี้ แต่รัฐบาลกลับคิดที่จะเอาภาระหนี้ไปซุกกับแบงก์ชาติ ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธได้ว่ายังคงเป็นภาระของประเทศอยู่ดี เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแนวทางที่ดำเนินการกันอยู่ถือว่าไม่ความโปร่งใสที่สุด และมีวินัยทางการเงินการคลังเพื่อรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 40 การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูออกไปต้องถามว่ามีวัตถุประสงค์อะไร หากทำเพียงแค่ให้ตัวเลขหนี้สาธารณะลดลงก็ต้องถามว่าหนี้สาธารณะลดลงจริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำก็เพียงแต่โยกหนี้ออกไปอยู่นอกบัญชีเพื่อกู้เพิ่มเติมได้ เท่ากับเป็นการหลอกตัวเอง และเพิ่มภาระให้ประเทศชาติมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงด้วยว่าการโอนหนี้ไปให้แบงก์ชาติรับภาระจะส่งผลอะไรต่อองค์กรหนี้เพราะมมีฐานะทางบัญชีและรายได้เหมือนรัฐบาล ฉะนั้นวิธีเดียวในอนาคตที่แบงค์ชาติจะสามารถชำระหนี้ได้คือการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ และภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดรอบคอบหรือยัง

ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเหมือนกับบีบทางอ้อมเพื่อให้ ธปท. ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ในการประชุม ครม.ยังมีมติให้ ธปท.แก้กฎหมายเพื่อออกการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงิน 3 แสนล้านบาท เหมือนกับที่เคยมีอำนาจก่อนที่จะมีการแก้กฎหมาย ธปท.2550 ซึ่งก็คือต้องให้ ธปท.พิมพ์เงินเพิ่มเพื่อมาออกสินเชื่อทั้งๆ ที่รัฐบาลมีกลไกที่จะใช้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการเรื่องนี้ได้ จึงไม่ควรผลักภาระให้ ธปท. เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือของ ธปท.ได้รับผลกระทบ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับคำพูดของนายกิตติรัตน์ที่ออกมาประชดประชัน ธปท.ว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นถึงความสับสนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร หน้าที่ของ ธปท.ไม่ใช่มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจแทนรัฐบาล แต่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ การจะให้ ธปท.มาเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเป็นเรื่องที่อันตรายซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.ทั้งในอดีตและปัจจุบันพูดไว้ชัดเจนว่า มีอำนาจในการพิมพ์ธนบัตร จึงไม่ควรให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือหน่วยงานที่พิมพ์ธนบัตรเป็นเรื่องที่อันตรายมาก นี่คือสาเหตุที่เรื่องของงบประมาณไม่ได้กำหนดในกฎหมายลูกเพียงอย่างเดียว แต่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสะท้อนความสำคัญด้านวินัยการเงินการคลัง

“ความพยายามที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซง ธปท.ให้ต้องตอบสนองความต้องการของรัฐบาลกำลังสุ่มเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นระยะยาวในระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมักอ้างเสียงข้างมากในสภาฯ ทำตามความต้องการของตัวเองซึ่งหากจะแก้กฎหมายให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำก็คงทำได้ แต่ถ้าคิดจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.คงทำได้ยากนอกจากไปแก้กฎหมายก่อน ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลทำได้ เรื่องนี้ต้องตื่นตัว และจับตาอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจในสภาแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ตัวเองเหนือองค์กรที่ควรมีอิสระหรือไม่ การที่รัฐบาลพยายามซุกซ่อนหนี้ไม่มีประเทศไทยเขาทำกันเพราะสะท้อนถึงปัญหาธรรมาภิบาลของรัฐบาลด้วย” นายกรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ควรเข้ามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายกรณ์กล่าวว่า อย่าเลยเดี๋ยวจะยิ่งเละเทะไปใหญ่ แต่จริงๆ นายกฯ ควรจะมีบทบาทที่จะช่วยแก้ปัญหา เพียงแต่ความรู้ของนายกฯ ในเรื่องนี้อาจจะมีไม่พอ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศ แต่นายกฯ ก็ยังมีหน้าที่ต้องรีบเรียนรู้และต้องตระหนักว่ามติ ครม.เรื่องนี้จะมีผลระยะยาวต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อดีต รมว.คลัง ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศหากมีการพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบจำนวนมากว่า จะส่งผลทำให้ค่าเงินถูกลง ราคาสินค้าจะพุ่งสูงขึ้น เงินบาทในกระเป๋าก็มีมูลค่าลดลง ประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้น เพราะค่าครองชีพสูงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในประเทศไทยก็จะลดลงตามไปด้วย จึงต้องขอให้รัฐบาลหยุดการดำเนินการดังกล่าว เพราะภาวะปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ พร้อมกับยกตัวอย่างที่สหรัฐฯ ใช้การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมากระตุ้นเศรษฐกิจว่า เป็นเพราะสหรัฐฯ มีปัญหาอัตราการว่างงานสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องเสี่ยงที่จะเอาเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศไปทำนโบยบายแบบนี้ ตนไม่อยากมองว่าหากยังเดินหน้าเช่นนี้จะทำให้ประเทศเสี่ยงกับภาวะล้มละลาย แต่บอกได้ว่าเป็นแนวทางที่ไม่ดีแน่นอน เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องรักษาสมดุลในการรักษาเสถียรภาพด้วย ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วยึดหลักนี้จึงทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความมั่นคงทั้งเรื่องหนี้สาธารณะ อัตราการว่างงาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงทุกดัชนีทางเศรษฐกิจสะท้อนว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไว้ให้รัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลนี้มีหน้าที่รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ และเพิ่มรายได้กับโอกาสให้กับประชาชน

นายกรณ์ยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีแนวคิดแก้กฏหมายเพิ่มอำนาจให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุน 3.5 หมื่นล้านฟื้นฟูน้ำท่วม ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องทบทวนให้ดี เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลา แต่รัฐบาลยังบอกกับประชาชนไม่ได้ว่าจะใช้เงินดังกล่าวไปทำอะไร แต่กลับอนุมัติเม็ดเงินไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินนอกงบประมาณ เพราะสามารถใช้เงินงบประมาณในแต่ละปีมาลงทุนได้ ซึ่งตนเห็นด้วยว่าจำเป็นแต่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินพิเศษทั้งก้อน เพราะจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่ม ทั้งที่ยังไม่จำเป็นที่ต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณในทันที รัฐบาลจึงควรพูดให้ชัดเจนว่ามีโครงการอะไรในใจ

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณเคยพูดถึงการถมทะเล และการสร้างเขื่อนกันน้ำ ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพราะเป็นน้ำหลากไม่ใช่น้ำทะเลหนุน โครงการนี้จึงใช้ไม่ได้ ส่วนจะมีโครงการอื่นที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปติดต่อไว้กับต่างประเทศหรือไม่นั้นก็คงต้องติดตาม และรัฐบาลต้องชี้แจง เพราะรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการระบบน้ำ แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริ หรือแนวทางต่างประเทศที่มีการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเสนอให้ใช้วิธีการแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ไม่ว่าจะใช้เงินเพื่อโครงการใด ก็ต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังไม่ควรใช้เงินนอกงบประมาณ และพรรคเพื่อไทยก็เคยคัดค้านโครงการไทยเข้มแข็งซึ่งรัฐบาลในขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนแต่ในครั่งนี้ไม่มีความเร่งด่วนปรากฏชัดเหมือนในปี 51-52 ทำไมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับเสนอกู้เงินในวงเงินที่มากกว่า ทำไมจึงเปลี่ยนความคิดทั้งๆ ที่เคยคัดค้านการกู้เงิน

นายกรณ์ยังกล่าวถึงกลุ่มที่ปรึกษาของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจว่า มีการเสนอนโยบายในลักษณะที่ไม่ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบทางการเมืองเท่าที่ควร โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีความพยายามที่จะนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น