ประธานแพทย์ชนบท-ภาคประชาชน ค้านตั้งบอร์ด สปสช.สุดลิ่มกลางเวที เสวนาระบบสุขภาพฯ ด้าน “จุรินทร์” ชี้ หากจะยุบรวมระบบสุขภาพควรรอบคอบ
วันนี้ (5 ก.พ.) นพ.นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวในการเสวนา เรื่อง “ทางแพร่งระบบประกันสุขภาพ ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า สิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาระบบสุขภาพไทยมี 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาประสิทธิภาพในการลดการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ไม่ดีนัก โดยที่ผ่านมา พบว่า เด็กอายุ 15 ปีจะมีอายุถึง 60 ปี เพียง 80 คน หายไป 20 คน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วตัวเลขหายไปพบเพียง 2-3 คนเท่านั้น แต่ไทยผ่านมา 20 ปีแล้ว ก็ไม่ดีขึ้น และ 2.ปัญหาผู้สูงอายุ ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สธ.และ พม.ต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้ด้วย
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ปัญหาคือ บอร์ด สปสช.ชุดนี้มีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะด้านการเงินการคลัง ด้านการบริหารยุทธศาสตร์ปราศจากการคิดรอบคอบ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเหมือนในอดีตและที่น่าจับตามอง คือ การทำงานของบอร์ด สปสช.ชุดนี้ คือ ในการประชุมบอร์ด ในวันวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จะมีประเด็นเรื่องแก้ไขมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีขยายวงเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข รวมทั้งให้ครอบคลุมไปยังผู้ประกันตน และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จากเดิมคุ้มครองเพียงผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ตรงนี้ต้องระวังเพราะจะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 41 มีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มวงเงินกรณีเสียชีวิตจาก 2 แสนบาทเป็น 2 ล้านบาท และห้ามผู้ป่วยฟ้องร้องต่อเด็ดขาด ที่สำคัญการเพิ่มวงเงินตรงนี้จะทำให้จากเดิมกองทุนมีงบชดเชยตามมาตรา 41 ที่ 100 ล้านบาทเพิ่มเป็น 2 พันล้านบาทด้วย ส่วนการกลับมาเก็บ 30 บาทนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ช่วยให้ระบบดีขึ้นแต่อย่างใด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต รมว.สธ.และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในเรื่องการจัดการระบบสุขภาพไทย นั้น สธ.ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะหากจะยุบรวมแล้วผิดพลาด ก็จะพังทั้งระบบ แต่หากไม่ยุบรวมก็ต้องมีการระบุมาตรฐานการรักษาขั้นต่ำ หรือขั้นพื้นฐานเท่ากัน
ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.กล่าวว่า เรื่องบอร์ด สปสช.ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าข้างใคร ส่วนเรื่องร่วมจ่าย 30 บาท ตอนนี้ยังไม่ได้เรียกเก็บ อยู่ระหว่างการศึกษาว่า หากเก็บแล้วจะมีคุณภาพ มีการบริการหรืออะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ไม่ใช่เก็บลอยๆ หรือเก็บเพราะจะช่วย รพ.ในสังกัด สธ.ขาดทุน ตนไม่ได้มองแค่นั้น ตนมองการทำงานจริงๆ ประสิทธิภาพของระบบมากกว่า
นายวิทยา กล่าวต่อว่า กรณีที่จะมีการประชุมบอร์ด สปสช.จะมีการหารือประเด็นมาตรา 41 ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ไม่ได้ฟันธงว่าจะแก้ไขมาตรานี้เพื่อขยายความคุ้มครอง หรือขยายวงเงินชดเชยค่าเสียหายทางสาธารณสุขให้แก่ผู้ประกันตน และข้าราชการ แต่เป็นเพียงการหารือว่าสามารถปรับปรุงได้มากน้อยแค่ไหน