“มาร์ค” รอดูมติ ครม.เยียวยาเหยื่อไฟใต้ อาศัยระเบียบอะไรรองรับ ย้ำ ไม่ควรจ่ายคนผิดด้วย รับเหตุใต้ละเอียดอ่อน หากให้เฉพาะกลุ่มยิ่งสร้างความขัดแย้ง ถามสิ้นสุดตรงไหน มีงบพอหรือไม่ แนะคิดรอบคอบก่อนตัดสินใจ เริ่มห่วงเหมือนสยามประชาภิวัฒน์ หวั่นแก้ รธน.เลิก ม.102(7) เปิดทาง “ทักษิณ” กลับนั่งนายกฯ
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้มีมติจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ หน้า สภ.อ.ตากใบ และหลายเหตุการณ์ว่า เป็นเรื่องที่ยังสับสนอยู่ เพราะ ครม.เพิ่งจะอนุมัติระเบียบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะมีการระบุ กรอบระยะเวลา ว่า ให้ย้อนไปเฉพาะเหตุการณ์ 1 ตุลาคม 54 คงต้องรอดูว่า ครม.จะมีมติอย่างไร อาศัยระเบียบอะไรมารองรับ ซึ่งในหลักการขอย้ำว่า ไม่ควรเยียวยาผู้ที่ทำผิดและกรณีในภาคใต้ต้องดูว่าให้เกิดความเป็นธรรม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจงใจเยียวยาเฉพาะเหตุการณ์ และมีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ควรจะได้แต่ไม่ได้ จะยิ่งสร้างความขัดแย้ง ซึ่งรัฐบาลจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ แต่คำถามคือจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่มองว่า เขาเองก็ควรได้รับการเยียวยาเช่นกัน อาทิ การชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค.2535 หรือ การชุมนุมทางการเมืองในอดีต รวมถึงผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ฆ่าตัดตอน ซึ่งรัฐบาลต้องประเมินว่า จะมีงบประมาณในการดูแลทั้งหมดหรือไม่ เช่น ในภาคใต้ 5 พันคน ก็ต้องเตรียมเงินราว 3-4 หมื่นล้านบาท
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า กรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องของ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ขอให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 ในการอนุมัติเยียวยาเงินช่วยเหลือผู้ชุมนุม ซึ่งทางศาลระบุว่า ยังไม่มีการอนุมัติวงเงินเพียงแต่อนุมัติหลักการลอยๆไว้ และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจ่ายเงิน โดยในเรื่องนี้อธิบดีกรมบัญชีกลางเองก็ยอมรับว่า ไม่มีกฏหมายรองรับการจ่ายเงินนี้ ตนจึงคิดว่ารัฐบาลอาจจะทำกฏหมายหรือออกระเบียบมา เพราะไม่ว่าอย่างไรการจ่ายเงินต้องมีระเบียบกฎหมายรองรับ
“ผมอยากให้รัฐบาล ต้องมีความรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจอะไร และอิงกับหลักที่เป็นคำตอบให้สังคมได้ แต่ถ้าอนุมัติเพียงเพื่อลดกระแสสุดท้ายก็จะยิ่งเป็นปัญหา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึก”
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่นักวิชาการ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกมาตั้งข้อสังเกตุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 102(7) ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ว่า ต้องไม่ใช่ผู้ที่เคยถูกยึดทรัพย์เพื่อเปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทางพรรคมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่แล้ว และจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคจับตาดูอยู่ เพราะมีข่าวในทำนองนี้มาโดยตลอด