“เฉลิม” ซัดฝ่ายค้านคุกคาม “ค้อนปลอม” ชี้ทำงานสุดอะลุ้มอล่วย อ้างสมาชิกวินิจฉัยแทนศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ปัดประธานรวบรัด เย้ยเจ้าเก่าไล่พวกไม่ชอบรัฐบาล จวก “วิชา” เป็น ป.ป.ช.ไม่ควรพูด ย้ำคดีมาจากปฏิวัติไม่ใช่กระบวนการปกติ ยันไม่ได้ยึดอำนาจอธิปไตย ลั่นไม่ได้นิรโทษฯ แค่ปรองดอง เชื่อไม่ซ้ำรอยวิกฤต “ประชา” อ้างฝ่ายค้านใช้กฎหมู่ทำหลุดด่า “โห่ทำเหี้ยอะไร” ลั่นขอปกป้อง “สมศักดิ์” เต็มที่
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นเพราะทุกอย่างฟ้องด้วยภาพ อย่างน้อยประชาชนที่ติดตามการประชุมคงรู้สึกได้ดีกว่า ซึ่งตนอยู่สภาฯ มาตั้งแต่ ปี 2526 การคัดค้านและการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงนั้นมีมาตลอด แต่เป็นเรื่องระหว่างสมาชิกกับสมาชิก แต่พฤติกรรมเมื่อวานเหมือนกับเป็นการคุกคาม จะด้วยความรู้สึกชั่วขณะ หรืออุบัติเหตุทางอารมณ์ก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็นการวางแผนเป็นขั้นตอนก็เป็นได้ แต่โดยภาพรวมก็คือไม่ดี ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าประธานสภาฯ ก็อะลุ้มอล่วย ในกรณีที่บอกว่าอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญสมาชิกจะไปวินิจฉัยไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฏหมายฉบับนี้ยังไม่ได้รับหลักการ
เมื่อถามว่า การกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎรคิดว่าเป็นการรวบรัดหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่รวบรัดเพราะถ้าหากว่ารวบรัดจริงก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด
เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลกำลังจะบอกว่าสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการปรองดองของประเทศได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสาธารณคิดว่าเป็นการปรองดองหรือการแตกแยก ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ที่ออกมาทุกวันนี้ก็เป็นเจ้าเก่าที่พยายามไล่และคิดล้มล้างพรรคไทยรักไทยทั้งนั้น เจ้าเก่าก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้เลือกตั้งซ้ำซาก
เมื่อถามว่า ได้พิจารณาเหตุผลที่ประชาชนเรียกร้องหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ที่มาเรียกร้องก็คือประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากถึงเวลาที่อภิปรายตนก็จะรับฟังทุกเสียง ฝากไปยังนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ถ้าตนเป็นนายวิชาจะไม่แสดงความเห็น เพราะ ป.ป.ช.เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและชี้นำได้
เมื่อถามว่า ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ให้มีการล้มล้างคำพิพากษาถือว่าถูกต้องตามหลักนิติรัฐนิติธรรมหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องมองว่าที่จุดเริ่มต้นคือการรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คดีต่างๆ มาจากการปฏิวัติ มันไม่ได้มาทางกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ทำไมต้องตั้ง คตส.เพราะในขณะนั้นก็มี ป.ป.ช. อีกทั้ง คตส.ยังออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังแบบนี้ทั่วโลกเขาไม่ทำกัน
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีการรักษาระบบของประเทศมีความสำคัญและมีความหมายมากน้อยเพียงใด ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มีความหมายแน่นอน แต่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน เริ่มต้นผิดก็ผิดตลอด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ทำร้ายระบบของประเทศ ขนาด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันผิด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
เมื่อถามว่า ถ้าเสียงข้างมากเป็นคำตอบได้ทุกอย่าง แต่มันเกิดความขัดแย้งข้างนอก คิดว่าสิ่งที่ทำตอนนี้คุ้มค่าหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ให้ไปดูทุกประเทศที่มีการเลือกตั้ง เสียงข้างน้อยก็เป็นฝ่ายค้าน ถามต่อว่า เสียงข้างมากที่ถูกถามถึงเรื่องความชอบธรรมคิดว่าจะรักษาสถานะของตนเองได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ก่อนเลือกตั้งเราก็ประกาศแล้วว่าเลือกให้ขาด ถ้าเลือกให้พรรคเพื่อไทยชนะเราจะแก้รัฐธรรมนูญถ้าไม่อยากให้แก้ก็เลือกประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ถามต่อว่า ในช่วงที่มีการหาเสียงเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ได้นิรโทษกรรมแต่เป็นการปรองดอง หลายคนแปลความหมายกันไปเองว่าเป็นนิรโทษกรรม
เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสร้างความวุ่นวายและแตกแยกให้บ้านเมือง รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เจ้าเก่าทั้งนั้น ไม่มีหน้าใหม่เลย ถามต่อว่าเกรงหรือไม่ว่าหน้าเก่าจะนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤติแบบเดิม ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่คิดเช่นนั้นเพราะได้สั่งให้ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ใช้ความรุนแรง และอย่าเลียนแบบสมัยตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ใช้กำลังไม่เอา
ด้าน นายประชา ประสพดี ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ในที่ประชุมรัฐสภาที่นายประชาได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมโดยกล่าวคำว่า “โห่ ทำเหี้ยอะไร” นั้นว่า ตนยอมรับว่ามีประชาชนโทร.ตำหนิ โดยได้ยอมรับผิดในการกระทำดังกล่าว แต่สิ่งที่ได้แสดงออกไปนั้นเพราะฝ่ายค้านมีพฤติกรรมที่ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย และใช้กำลังประทุษร้ายต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงไม่ควรให้ความเชื่อถือกับฝ่ายค้านต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันนี้หากฝ่ายค้านแสดงพฤติกรรมดังกล่าวต่อประธานสภาอีก ตนจะไม่ยอมและพร้อมที่จะปกป้องประธานสภาอย่างเต็มที่ แต่หากดำเนินภายใต้กฎกติกาทุกอย่างก็จะเรียบร้อย และขอตำหนิไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ควบคุมสมาชิกพรรคให้อยู่ในขอบเขตได้