“ชัจจ์” อ้างเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟบ่อย เหตุถูกตัดงบประมาณ ทำบุคลากร การจัดหาหัวรถจักร การซ่อมบำรุงมีปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมวันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถามด่วน เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางรถไฟ ซึ่งนายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ เป็นผู้ตั้งถามนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายประเสริฐกล่าวว่า จากเหตุการณ์เกิดอุบัติเหตุทางรถไฟ ทำให้เกิดความสงสัยว่าเส้นทางรถไฟของไทยที่มีลักษณะหักศอกมีระยะทางแก้ 350 เมตร ขณะที่มาตรฐานสากลควรเป็น 650-670 เมตร สิ่งนี้รัฐบาลหรือทางการรถไฟพอแก้ไขได้หรือไม่ และมาตรฐานการควบคุมเจ้าหน้าที่รางในการตรวจเส้งทางที่รถไฟวิ่งมีหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่ประชาชนทำกันเองในเส้นทางที่รถตัดผ่าน และแม้กระทั่งตัวรถไฟที่ยังขาดการซ่อมบำรุงที่ดีพอ รวมถึงคุณสมบัติ การทำหน้าที่ ความรับผิดชอบของพนักงานขับรถไฟในปัจจุบัน ตลอดจนบทลงโทษมีความเข้มงวดแค่ไหนหากเกิดปัญหา ซึ่งยังทราบมาอีกว่าจำนวนพนักงานก็มีไม่เพียงพอด้วย ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณที่คั่งค้างกับการรถไฟฯ เมื่อรัฐบาลสนับสนุนนโยบายประชานิยมก็ต้องแก้ปัญหาผลกระทบที่การรถไฟต้องแบกรับภาระด้วย ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางรถไฟอย่างไร และผู้เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการจัดบริหารงบประมาณอย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟอย่างไร
ด้าน พ.ต.ท.ชัจจ์ ชี้แจงว่า รถไฟได้สร้างมาแล้ว 115 ปี แต่ตนเข้ามาดูแลงานนี้ได้ 9 เดือน ต้องมาเจอมหาอุทกภัย 4-5 เดือน จึงเพิ่งได้เร่งมาดูแลงานรถไฟต่อ ซึ่งขณะนี้รางรถไฟ ประมาณ 4000 กม. มีความเสียหายอย่างมาก เราต้องการหัวจักรรถไฟบริการประชาชนถึงประมาณ 325-350 หัวจักร แต่ประเทศไทยมีเพียง 127 หัวจักรที่ใช้งานอยู่ อีกทั้งยังต้องการขบวนรถไฟอีกหลายร้อยคัน และหลายร้อยแคร่เพื่อบรรทุกสินค้าโดยอยุ่ระหว่างการจัดหา เพราะบ่อยครั้งการประมูลมักมีปัญหาทำให้ต้องใช้เวลาเป็นปี และทางกระทรวงคมนาคมเองก็ได้เร่งรัดให้จัดหาแล้วก็กำลังอยู่ระหว่างเริ่มจัดหากันใหม่อีก
ส่วนอุบัติเหตุทางรถไฟที่บ่อยครั้งมักจะพบเจอ เป็นปัญหาที่จุดตัดรถไฟร่วม 3,000 จุด ซึ่งเรามีเครื่องกั้นที่สมบูรณ์เพียงแค่ 700 เอง และยังขาดอีก 1,700 กว่าจุด และเป็นเรื่องที่น่าหนักใจเพราะมีการลักลอบทำเส้นทางตัดผ่านรถไฟอยู่เนืองๆ เพื่อเป็นทางลัดข้ามเส้นทางกันอย่างสะดวกจนมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งก็ได้จัดจ้างลูกจ้างดูแลจุดตัดรถเหล่านี้แล้วก็พอบรรเทาปัญหาไปได้มากทีเดียว
อย่างไรก็ดี การรถไฟฯ ยังขาดสิ่งพื้นฐานทั้งอาณัติสัญญาณเสียง เครื่องกั้นอัตโนมัติ ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนใช้งบประมาณซึ่งได้ของบประมาณไปปี 54 ประมาณ79 แห่ง ปี 55 ไม่ได้งบประมาณเลย ส่วนงบประมาณปี 56 ขอไป 256 แห่ง ได้งบ 100 ล้าน จึงสร้างได้อีก 40 แห่ง ยังขาดอีก 1,000 กว่าจุด จึงต้องค่อยๆ ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กรณีอุบัติเหตุที่นักศึกษาถูกรถไฟเฉี่ยวตามที่ปรากฏเป็นข่าว รถไฟวิ่งบนรางตามที่ตีเส้นสีกำกับอยู่ กรณีเช่นนี้รถไฟก็สุดวิสัยที่จะเบรกบังคับได้ แต่จากนี้คงจะต้องตีอาณัติสัญญาณเตือนให้เส้นให้ใหญ่ขึ้นเมื่อรถไฟวิ่งผ่าน แต่ก็ไม่รู้จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ตนก็ให้หลักการไปแล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำตามสากลเสมอไป โดยอาจจะเตือนให้เป็นพิเศษมากกว่าสากลกำหนด ทั้งนี้ 4 สาเหตุ ที่ทำให้รถไฟเกิดอุบัติเหตุ คือ สายพาน เครื่องจักรกล อาณัติสัญญาณ และคนขับรถไฟ แต่ในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของคน ไม่ใช่โทษเครื่องจักร รถไฟเรามีมานาน มีหลักวิชการเดินรถที่เยี่ยมยอด ขั้นตอนการตรวจรางก็มีพร้อม จึงน่าใช่สาเหตุจากความชำรุด แต่ยอมรับว่ามีปัญหาพนักงานขับรถไฟไม่เพียงพอ แม้จะจัดหาแล้วก็ต้องมีงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติแต่ก็ได้ให้เบี้ยล่วงเวลาไว้ เพราะจากอดีตห้ามเพิ่มจำนวนพนักงาน ทำให้เกิดพนักงานขาด ถ้าไม่เพิ่มรถไฟจะขาดพนักงานผู้ปฏิบัติต่อเนื่องอาจวิกฤติ แต่ขณะนี้เพิ่ม 2,400 กว่าอัตราไปแล้ว และตนขอสัญญาว่าจะตั้งใจปรับปรุงรถไฟให้เป็นเหมือนสังคมรถไฟที่เจริญแล้ว