xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้แค่ตรึงราคาพลังงานไม่ทำให้สินค้าถูก เหตุค่าครองชีพไม่ลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ภาพจากแฟ้ม)
“อภิสิทธิ์” สอนรัฐบาลแค่ตรึงราคาก๊าซไร้ประโยชน์ เพราะไม่ทำให้ค่าครองชีพลด แนะทบทวนนโยบายพลังงาน เตือนอย่าหวังว่าอีก 2-3 เดือนราคาสิ่งของจะถูกลง เหน็บรัฐบาลออกแคมเปญ “ของถูกทั้งแผ่นดิน” มีแต่สินค้าเกษตรเกือบทุกตัวที่ราคาตก ระบุนโยบายพลังงาน-ค่าแรง 300 บาททำต่างชาติเมินลงทุนในไทย ย้อนถาม “ยรรยง” ถ้าสินค้าราคาถูกจริงทำไมต้องของบประมาณไปแก้ปัญหาของแำพง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการออกมติ ครม.ที่มีการตรึงราคาสินค้าและตรึงราคาพลังงานไปอีก 4 เดือนว่า อย่างน้อยเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลเริ่มยอมรับว่าขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาดู เรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น และเป็นเรื่องที่ดีที่ยอมรับว่า เรื่องของพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวน แต่ที่ต้องทำความเข้าใจ คือ มติที่ให้ตรึงราคาไม่มีผลที่จะทำให้ต้นทุนในเวลานี้ลดลง เพราะได้ขึ้นไปแล้ว และที่สำคัญคือ ยังไม่มีการพูดถึงการทบทวนภาพใหญ่ของนโยบายพลังงาน แต่ลักษณะของการที่พูดว่าค่าก๊าซก็จะชะลอไว้ และในวันข้างหน้าอาจจะมีการขึ้นราคาอีก รัฐบาลควรเอาโอกาสนี้ไปทบทวน เพราะแนวคิดการขึ้นราคาก๊าซเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ซ้ำเติมโยนภาระให้ประชาชน เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถที่จะรับสิ่งนี้ได้ ซึ่งตนคิดว่าอย่าหยุดเท่านี้ ถ้าบอกว่าจะตรึงก็ขอให้ทบทวนดูนโยบายทั้งหมด เพราะไม่สามารถทำให้ค่าครองชีพลดลง อย่างดีคือการชะลอการขึ้นไปอีก

นายอภิสิทธ์กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายที่ไม่แน่นอน ย่อมไม่เป็นผลดี เพราะนอกจากผลกระทบโดยตรงจากการที่มีการทยอยขึ้นราคาพลังงานแล้ว ตัวที่ไปซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ คือการเก็งในเรื่องราคาและเรื่องเงินเฟ้อ เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าเรื่องค่าเงินที่อ่อนตัวลงก็จะทำให้ต้นทุนในเรื่องพลังงานสูงขึ้น ตรงนี้เป็นอีกปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการขาดดุลการค้าที่มีมาในช่วงต้นปี ต้องไปดูว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ขณะนี้รัฐบาลยังตายใจว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของฤดูกาลบ้าง หรือเป็นผลพวงที่กระทบมาจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นเพียงความจริงบางส่วน แต่มีปัญหาอื่นที่ต้องแก้ไข ถ้าไปคาดหวังว่าหลังจากนี้ไปอีก 2-3 เดือนจากนี้อากาศไม่ร้อน โรงงานเปิดมากขึ้น ปัญหาจะหมดไป คงไม่ได้เป็นแบบนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขาดดุลการค้าในเดือนมีนาคม เป็นสัญญาณส่อถึงอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลจะต้องไปจำแนกตัวเลขออกมา ที่เป็นผลกระทบจากกรณีที่โรงงานที่ยังไม่สามรถเปิดได้ เท่าไร เพราะมีการรายงานตัวเลขไปที่ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าโรงงานประมาณ 70% กลับมาเปิดดำเนินการแล้ว แต่การขาดดุลยังมีอยู่ ต้องไปดูโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่เวลานี้ได้รับผลกระทบมาก อย่างข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการับจำนำ ที่สำคัญในส่วนของพืชผลทางการเกษตรตัวอื่นที่ได้รับกระทบที่รุนแรง เกษตรกรเดือดร้อน รัฐบาลออกมาพูดว่าจะทำของให้ถูกทั้งแผ่นดิน ที่ตรงข้ามสิ่งที่ถูกลงเวลานี้ คือ สินค้าเกษตร เช่น กรณีกุ้งขาว ที่มีการประท้วง และสถานการณ์จะทรุดตัวลงเรื่อยๆ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การลงทุนในไทยที่ลดลงจากปีที่ผ่านมานั้น นอกจากผลกระทบจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่เขามองเรื่องต้นทุน น้ำท่วม ประกันภัยแล้ว แต่ที่เป็นผลกระทบจากนโยบายโดยตรงของรัฐบาล คือ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กับต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาตรการรัฐออกมาบรรเทาเรื่อง 300 บาทยังไม่เพียงพอ เรื่องพลังงานก็ขยับช้ามาก และถ้าการลงทุนต่ำลงอีก ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเพราะไม่ใช่เรื่องของวัฏจักรทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของขีดความสามารถของการแข่งขันที่รัฐบาลต้องไปทบทวน

ส่วนที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมายืนยันว่ากรณีค่าแรง 300 บาทไม่กระทบต่อเรื่องการลงทุน และราคาสินค้าที่แพงขึ้นนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยสามัญสำนึก เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในการที่บอกว่า ขึ้นค่าแรง 40% แล้ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ราคาสินค้าขยับขึ้นอีกรอบในช่วงสิ้นปี ที่ตนกล่าวมาไม่ได้เป็นการค้านการขึ้นค่าแรง แต่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปดูแลผลกระทบในการขึ้นค่าแรง ที่ภาคธุรกิจมีเวลาไม่เพียงพอในการปรับตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไร ที่รัฐบาลไปโทษสาเหตุต่างๆ มากกว่าที่จะมาดูในเรื่องต้นตอของปัญหาสินค้าราคาแพง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการเมือง เวลามีการท้วงว่า ประชาชนมีปัญหา ก็พยายามจะไปตอบโต้ทางการเมืองมากกว่า เพราะความจริงแล้วรัฐบาลทุกชุดต้องเจอกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และหน้าที่ของรัฐบาลคือไปดูความจริงแล้วนำมาแก้ไขปัญหานั้นๆ แต่รัฐบาลนี้เสียเวลามากกับเรื่องของแพงที่ออกมาปฏิเสธว่าของไม่แพง กลับกลายเป็นว่ามาทะเลาะว่ายุคไหนแพงกว่ากัน

“อย่างที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็โดดมาร่วมวงอยากทะเลาะทางการเมืองไปด้วย แต่ว่าสุดท้ายก็มาของบประมาณมากมายไปแก้ปัญหาของแพง ถ้าปลัดฯ ยืนยันว่าของไม่แพงก็ควรยกเลิกการของบประมาณที่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปแก้ไข เพราะขอไปเป็นพันล้านกับปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่ามันไม่เป็นปัญหา มันก็เป็นเรื่องที่ไปไม่ได้ หรือที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ระบุว่าเป็นการปั่นกระแสเพื่อสร้างวาทกรรมสะกดจิตประชาชนว่าของแพงขึ้นนั้น ความจริงก็คงไม่ใช่ เพราะหากผมสามารถที่จะสะกดจิตคนได้ คงไม่แพ้เลือกตั้ง อะไรที่เป็นเรื่องจริง เราก็ต้องยอมรับความจริง และเชื่อว่าประชาชนเองก็มีเหตุมีผลที่จะรับฟังโดยเฉพาะความจริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น