xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกมี.ค.วูบติดลบ6.5% ขาดดุลการค้าทำสถิติสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ส่งออกมี.ค.วูบ ติดลบ 6.5% ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เหตุตลาดส่งออกวูบ หลายสินค้ายังไม่ฟื้นจากน้ำท่วม ส่วนยอดนำเข้าพุ่ง ทำขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
 

นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนมี.ค.2555 มีมูลค่า 19,866.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.54% เมื่อเทียบกับมี.ค.2554 เป็นการขยายตัวติดลบสูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย.2554 ที่ติดลบ 12.44% และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 606,449.7 ล้านบาท ลดลง 6.15% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 24,455.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.62% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 755,769.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.13% โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 4,589.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทขาดดุลมูลค่า 149,320.2 ล้านบาท มากสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนการส่งออกในช่วง 3 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 54,641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.92% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1,692,304.8 ล้านบาท ลดลง 1.63% การนำเข้ามีมูลค่า 59,828.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.45% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,873,293.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.96% โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 5,186.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทขาดดุลมูลค่า 180,988.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

“สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือนมี.ค. และไตรมาสแรกติดลบ มาจากกำลังซื้อจากตลาดต่างประเทศหลายแห่งชะลอตัว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีอัตราติดลบค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มทั้งสินค้าเกษตรที่ส่งออกได้น้อยลง เช่น ข้าว ยางพารา รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการจากผลกระทบน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา”นายภูมิกล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้นมาก และทำให้ทั้งปีจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 15% แน่นอน ส่วนการขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการนำเข้านั้น ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากเป็นการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่นำมาใช้ในภาคโรงงานและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำมาใช้ผลิตชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม และยังมีการนำเข้าทองคำเพื่อสต๊อกสำรองในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มอ่อนตัวลง

ทั้งนี้ เมื่อแยกการส่งออกเป็นรายสินค้าในเดือนมี.ค. พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 21.3% สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว 53.4% ยางพารา 34% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 37% ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร 4.6% อาหารทะเลแช่แข็งไม่รวมกุ้ง 14.3% และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 14.7% ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 7.4% สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า 7.4% สิ่งทอ 16.6% อัญมณีและเครื่องประดับ 53% สิ่งพิมพ์ 69.9% เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง 11.1% เฟอร์นิเจอร์ 5.1% ส่วนสินค้าส่งออกเพิ่ม ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ 6.7%ผลิตภัณฑ์ยาง 8.8% เครื่องสำอาง 1.4%อาหารสัตว์เลี้ยง 21.5% เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม 16.7%

ส่วนการส่งออกเป็นรายตลาดในเดือนมี.ค. มีอัตราลดลงทุกตลาด โดยตลาดหลักลดลง 4.7% ได้แก่ สหภาพยุโรป ลดลง 15.3% ญี่ปุ่น 3.6% แต่สหรัฐเพิ่ม 5.3% ตลาดศักยภาพสูงลดลง 6% ได้แก่ อินเดียลดลง 5.7% ฮ่องกง 38.9% ไต้หวัน 15.2% แต่อาเซียนส่งออกเพิ่ม 2.7% อินโดจีนและพม่า 9.5% จีน 1.1% และเกาหลีใต้ 9.1% ตลาดศักยภาพรองลดลง ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย 15.4% ตะวันออกกลาง 2.4% สหภาพยุโรปใหม่ 12.2% แคนาดา 19.2% ยกเว้นลาตินอเมริกาเพิ่ม 15.6% แอฟริกา 1.3% รัสเซีย 0.8% และตลาดอื่นๆ ลดลง 51.3% โดยสวิตเซอร์แลนด์ลดลง 61.3%
กำลังโหลดความคิดเห็น