xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก พ.ย.จมน้ำโตติดลบ 12.4% ยานยนต์-ไฟฟ้า-อิเลกทรอนิกส์ อาการหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - น้ำท่วมฉุดส่งออก พ.ย.ขยายตัวติดลบ 12.4% ครั้งแรกในรอบ 25 เดือน เผย สินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อิเลกทรอนิกส์ ยอดวูบหนัก หลังโรงงานจมน้ำ แต่สินค้าเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี “ศิริวัฒน์” คาด เดือน ธ.ค.ชะลอตัวอีก แต่เป้าทั้งปี 15% ทำได้แน่นอน ส่วนปี 55 ยังคงเป้าที่ 15% แม้ปัจจัยลบเพียบ

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.มีมูลค่า 15,498 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 12.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน นับจาก ต.ค.2552 ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ หลังจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้การส่งออกสินค้าสำคัญๆ หลายรายการลดลง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,872 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 2.4% ทำให้เดือนนี้ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,373 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2554 (ม.ย.-พ.ย.) มีมูลค่ารวม 211,809 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 209,345 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25.5% โดยไทยยังคงเกินดุลการค้ามูลค่า 2,465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค.2554 จะยังคงขยายตัวติดลบ แต่ตัวเลขไม่น่าจะถึงสองหลัก และทำให้การส่งออกรวมทั้งปี 2554 จะยังคงขยายตัวได้ 15% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลงและมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย คือ ยานยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ลดลง 54.7% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 47.4% ของเล่น ลดลง 42.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง 21.9% อัญมณีและเครื่องประดับ ลดลง 10.8% ทองคำยังไม่ขึ้นรูป ลดลง 16.8% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ลดลง 10.3% ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้น 20.1% เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ 13.5% อาหารสัตว์เลี้ยง 10.4%

ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 11.3% โดยมีสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า 14.9% และ 24.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 28.6% และ 20.2% สินค้ากลุ่มอาหาร เพิ่มขึ้น 11.3% เช่น กุ้งแช่แข็งและแปรรูป เพิ่มขึ้น 14.3% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่มขึ้น 6.2% เป็นต้น น้ำตาล เพิ่มขึ้น 172.6% ส่วนข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลง 27.7% และ 21.1% ตามลำดับ

ขณะที่การนำเข้าในเดือน พ.ย.ขยายตัวลดลงเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสินค้าเชื้อเพลิงลดลง 6.1% สินค้าทุน ลดลง 2.9% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 2.7% สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 8.6% จากการเพิ่มขึ้นของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลง 3.4% และอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ลดลง 1.9%

ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลักส่งออกลดลง 16.9% เป็นการส่งออกลดลงของตลาดสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 28.8%, 13.9% และ 8.7% ตามลำดับ ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกลดลง 8.4% โดยฮ่องกงลดลง 43.6% เกาหลีใต้ ลดลง 11.3% ไต้หวัน ลดลง 11% จีน ลดลง 9.7% ส่วนอินโดจีนและพม่า และอาเซียน 5 ประเทศ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.8% และ 0.9% ตลาดศักยภาพรอง ส่งออกลดลง 19.8% โดยทวีปออสเตรเลีย ลดลง 33.1% ตะวันออกกลางลดลง 32.8% รัสเซียและ CIS ลดลง 24.6% แอฟริกา ลดลง 17.2% เป็นต้น ส่วน ละตินอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.4%

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในปี 2555 คาดว่า ไตรมาสแรกจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากโรงงานในอุตสาหกรรมยังคงไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อิเลกทรอนิกส์ แต่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป สินค้ากลุ่มนี้น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกอย่างเข้มข้น เพื่อชดเชยยอดการส่งออกที่คาดว่าจะหายไป โดยจะมุ่งการบุกเจาะตลาดอาเซียน จีน อินเดีย และลาตินอเมริกา และเน้นสินค้าในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มสินค้าเกษตร เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2555 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15% โดยมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การฟื้นตัวของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราการแลกเปลี่ยน แต่จะพยายามผลักดันให้การขยายตัวเป็นไปได้ตามเป้า โดยจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ คาดว่า หลังจากไตรมาสแรกผ่านไปแล้ว น่าจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น