xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าทุบสถิติใหม่ S&Pขู่โตต่ำกว่าเป้าถูกลดเรตติ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม ที่สำคัญยอดขาดดุลการค้าต่อจีนยังทุบสถิติใหม่ ตอกย้ำความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจแดนมังกรชะลอตัวเช่นกันและอาจมีปัญหาในการประคองเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันเอสแอนด์พีเตือนอาจลดเรตติ้ง หากแดนปลาดิบขยายตัวต่ำกว่าเป้าหรือหนี้ยังพุ่งไม่หยุด

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยเมื่อวันจันทร์ (20) ว่า เดือนที่ผ่านมาประเทศขาดดุลการค้า 1.47 ล้านล้านเยน สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลนี้ในปี 1979 และเกิน 3 เท่าของยอดขาดดุลในช่วงเดียวกันปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 497,400 ล้านเยน อีกทั้งสูงกว่าสถิตินิวไฮเดิมในเดือนมกราคม ปี 2009 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่เท่ากับ 967,900 ล้านเยน

การส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นตกลง 9.3% เหลือ 4.5 ล้านล้านเยน เนื่องจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ลดลง โดยที่ผู้ส่งออกกำลังต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเงินเยนแข็งค่า ซึ่งทำให้มูลค่ารายได้ที่กลับเข้าประเทศต่ำลง และสินค้าญี่ปุ่นแพงขึ้นในต่างประเทศ

ส่วนตัวเลขการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.8% เป็น 5.98 ล้านล้านเยน โดยญี่ปุ่นสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้นถึง 74.3% น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 12.7% และถ่านหิน 26.5%

รายงานยังระบุว่า ญี่ปุ่นส่งออกไปยังจีนลดลง 20.1% นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 และขาดดุลแดนมังกรถึง 587,900 ล้านเยน หรือ 40% ของมูลค่าการขาดดุลการค้าทั้งหมดในเดือนมกราคม ตอกย้ำความกังวลต่อแนวโน้มขาลงของเศรษฐกิจจีน

มาริ อิวาชิตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตี้ส์ กล่าวว่าทางการปักกิ่งเองก็ดูเหมือนเริ่มกังวลว่า ดีมานด์กำลังอ่อนแอลง ดังจะเห็นได้จากการประกาศให้แบงก์พาณิชย์สามารถลดสัดส่วนทุนสำรองลง 0.50% เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18) ซึ่งเชื่อว่า น่าจะกระตุ้นให้มีการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นได้ 350,000-400,000 ล้านเยน

ญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากดีมานด์ตกต่ำในภูมิภาคอื่นๆ โดยยอดเกินดุลต่อสหภาพยุโรป (อียู) ดิ่งลงถึง 98.9% อยู่ที่ 700 ล้านเยน จากการส่งออกที่ลดลง 7.7% ขณะที่ยอดเกินดุลที่มีต่อสหรัฐฯ ทรุดลง 7.6% เหลือ 265,300 ล้านเยน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าประเทศอื่นๆ ในเอเชียครั้งแรกในรอบ 3 ปี คิดเป็นมูลค่า 357,100 ล้านเยน

ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าในเดือนมกราคมนับเป็นปีที่ 5 ในรอบ 7 ปีล่าสุด เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์แง่ดีว่า การส่งออกจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะเมื่อสัญญาณดีมานด์ในสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว

ทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนรินชูกินคาดว่า ญี่ปุ่นจะกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ฮิโรเอกิ มูโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของซูมิโตโม มิตซุย แอสเส็ต แมเนจเมนท์ เสริมว่า การขาดดุลไม่มีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการฟื้นตัวของดีมานด์ในต่างประเทศ กระนั้น ปัญหานี้จะยังคงอยู่เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางและราคาน้ำมัน

วันเดียวกัน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) เตือนว่าอาจลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวต่ำกว่าคาด หรือหากหนี้สาธารณะยังพุ่งขึ้นไม่หยุด

เอสแอนด์พียืนยันเรตติ้ง AA- พร้อมระบุแนวโน้มติดลบ อีกทั้งเตือนว่า การขึ้นภาษีที่รัฐบาลผลักดันไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มความกดดันต่องบประมาณของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมากที่สุดในหมู่ชาติอุตสาหกรรม และอาจไม่สามารถเลื่อนการตัดลดงบประมาณครั้งใหญ่ตลอดจนการขึ้นภาษีเชิงรุกได้นานนัก โดยเฉพาะในภาวะที่วิกฤตหนี้ยุโรปกำลังรุมเร้าเศรษฐกิจโลก

ปัญหาหนึ่งคือ พรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (ดีพีเจ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ไม่มีเสียงข้างมากในสภาสูง ทำให้การผลักดันนโยบายต่างๆ ล่าช้าอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ เอสแอนด์พี และฟิตช์ต่างให้อันดับญี่ปุ่นที่ AA- พร้อมแนวโน้มติดลบ ขณะที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์จัดอันดับญี่ปุ่นที่ Aa3 และแนวโน้มคงที่

เอสแอนด์พียังเตือนว่า เรตติ้งแดนซากุระอาจร่วงอีก หากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่บริษัทคาดไว้ที่ 1.2% พร้อมแสดงความกังวลว่า รัฐบาลไม่พยายามมากพอในการแก้ปัญหาหนี้อย่างรวดเร็ว

ปลายปีที่แล้ว พรรคดีพีเจ ตกลงว่า จะขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายน 2014 และ 10% ในเดือนตุลาคม 2015 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน ขณะที่ปัจจุบัน ความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ดิ่งลง และฝ่ายค้านก็ปฏิเสธให้ความร่วมมือเนื่องจากใกล้การเลือกตั้งเข้ามาทุกที และเชื่อได้ว่าประชาชนไม่พอใจมาตรการขึ้นภาษี
กำลังโหลดความคิดเห็น