ส.ว.รุมสับนโยบายพักหนี้ดี เชื่อเป็นใบสั่ง “แม้ว” หวังเอาภาษี ปชช.ช่วยคนบางกลุ่ม-สร้างประเพณีที่ผิดเพราะมีความหวังจะได้พักหนี้ “คำนูณ” กังขาอาจเข้าข่ายคอร์รัปชัน ซัดเป็นประชานิยมบ้าคลั่ง นำชาติวิบัติ พาคนแห่กู้ธนาคารรัฐ หวังพักชำระหนี้
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ได้หารือถึงนโยบายพักหนี้ดีของรัฐบาลว่ารู้สึกไม่สบายใจ และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำไมจึงเกิดความคิดนี้ ทั้งที่การพักหนี้ดีก่อให้เกิดผลเสีย และความคิดนี้ทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถตกลงได้ เพราะเป็นความคิดของนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ทำให้รัฐมนตรีช่วยคลังอีกหนึ่งท่านที่ชีวิตครอบครัวของท่านผ่านการเป็นเจ้าของธนาคารมาก่อน รู้ดีว่าการกระทำเช่นนั้นย่อมเกิดผลกระทบต่อฐานะของธนาคารอย่างไร จึงไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ รมว.คลัง ที่จะตัดสินใจแต่ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ จนกระทั่งในช่วงสงกรานต์ที่ ครม.ได้ไปรดน้ำดำหัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ต่างประเทศ หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้สั่งการทันทีให้ดำเนินนโยบายนี้ต่อไป ตนจึงสงสัยฝากเรียนถามไปยังนายกฯ ยิ่งลักษณ์มีนายกรัฐมนตรีอยู่นอกประเทศใช่หรือไม่ เนื่องจากท่านไม่สามารถตัดสินใจในการบริหารงานได้ ถ้าอย่างนั้นก็ให้ลาออกไปเสียให้มีนายกฯ เพียงคนเดียวก็สิ้นเรื่อง
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวเสริมว่า นโยบายพักหนี้ดีของธนาคารรัฐ 5 แห่ง ที่กำหนดที่จะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.เป็นต้นไป หนี้ดีหมายถึงผู้ที่มีหนี้ในธนาคารรัฐต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และเท่าที่ทราบเงินที่จะนำมาช่วยเหลือเป็นการหารกันคนละครึ่ง ระหว่างธนาคารรัฐ 5 แห่ง กับเงินของรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชน ซึ่งตนมีคำถามและอยากให้รัฐบาลทบทวนในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ 1. เป็นการเอาภาษีอากรของรัฐที่มีที่มาและจำนวนจำกัดไปใช้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมถ้าถูกกลุ่มก็พอรับได้ แต่ถ้าผิดกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีกำลังอยู่แล้วรัฐบาลจะตอบคำถามนี้อย่างไร ในขณะที่คนยากจนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือไม่มีโอกาสที่จะเป็นหนี้ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นจะเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่งหรือไม่ 2. จะเป็นการสร้างประเพณีหรือสร้างความคาดหวังให้กับสังคมในทางที่ผิด ซึ่งต่อไปแทนที่จะไปกู้จากธนาคารเอกชนก็จะหันไปกู้ธนาคารของรัฐบาลแทน เพราะมีโอกาสในการพักหนี้ได้ นอกจากนี้การกำหนดหลักเกณฑ์รายละไม่เกิน 5 แสนบาทอาจก่อให้เกิดการช่วยเหลือผิดกลุ่ม เพราะเราจะไม่รู้ว่าลูกหนี้รายนี้จะมีจากธนาคารรัฐรายชื่อด้วย หรือธนาคารเอกชนด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับผู้ที่กล่าวว่าเป็นนโยบายประชานิยมบ้าคลั่ง จะนำชาติไปสู่ความวิบัติในที่สุด
ด้าน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรร ขอหารือว่า การประกาศราคากลางทางสื่ออิเลคทรอนิคส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 103/4 วรรค 1 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ จัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมอบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการภายใน 120 วัน ซึ่งขณะนี้เป็นเวลา 1 ปีแล้วนับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ หน่วยงานของรัฐไม่สามารถประกาศราคากลางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบทราบว่า ทาง ป.ป.ช.ได้ส่งเข้า ครม.ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.54 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงครม.จึงค้างอยู่ในวาระ จึงได้พิจารณาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 โดย ครม.มีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลักเกณฑ์ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการและส่งเข้า ครม.ให้ความเห็นชอบ จึงขอให้สำนักงานเลขาธิการ ครม.และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีการปฏิบัติภายใน 180 วัน กระบวนการตรวจสอบการทุจริตจากภาคประชาชนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น