xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ร่วมงานเลี้ยงสมาพันธ์ธุรกิจยุ่น หวังเอกชนร่วมปฏิบัติตามแผนลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะปฎิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น

นายกฯ ร่วมงานเลี้ยงสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ขอบคุณเชื่อมั่นไทย ชี้ภัยพิบัติกระทบลุ่มน้ำโขงเป็นห่วงโซ่ ยันเร่งฟื้นฟูอุทกภัยต่อเนื่อง หวังเอกชนร่วมร่างและปฏิบัติตามแผนกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงและยุ่นเพื่อประโยชน์แก่การลงทุน ย้ำไทยและญี่ปุ่นจะร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ


วันนี้ (20 เม.ย.) ที่ประเทศญี่ปุ่น เวลา 12.00 น. นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางจากโรงแรมที่พัก ไปยังโรงแรม Imperial เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น Keidanren และ Japan Chamber of Commerce and Industry (JCCI) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ณ ห้อง Hikari

ภายหลังประธานเคดันเรน กล่าวต้อนรับแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละประเทศกล่าวตามลำดับตัวอักษร โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ ต่อจากนายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีถือโอกาสนี้ กล่าวขอบคุณภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยเฉพาะ เคดันเรน สำหรับความเชื่อมั่นที่มีให้กับประเทศไทย หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แสดงให้เราได้ประจักษ์ว่า ภัยพิบัติของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเพียงอย่างเดียว แต่ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น สร้างความเสียหายทางธุรกิจเป็นจำนวนมากให้กับภาคธุรกิจของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เพื่อข้อห่วงกังวลดังกล่าวของภาคเอกชนญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้เร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูประเทศจากอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท หรือ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยคุ้มครองครัวเรือนและผู้ประกอบการรวม 1.54 ล้านราย วงเงินคุ้มครองรวม 2.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความพยายามข้างต้นของรัฐบาลไทย ได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งประเทศญี่ปุ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมาภาคธุรกิจญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแกนกลางในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และจะสามารถมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประเด็นท้าทายอีกประเด็นหนึ่งที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะสามารถใช้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันในการพัฒนาจากแนวพื้นที่การคมนาคมขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่น ภายใต้การนำของเคดันเรนจะมีส่วนร่วมในการร่างและปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ของกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขง ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในอนุภูมิภาค และต่อประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความขอบคุณอีกครั้งว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีให้กับรัฐบาลไทยในช่วงระหว่างและภายหลังเหตุการณ์อุทกภัย มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการเร่งรัดกระบวนการฟื้นฟุระบบเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งโดยเร็ว

ต่อมาเมื่อเวลา 18.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม New Otani กรุงโตเกียวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายคัทสึยะ โอคาดะ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูประบบบริหาร รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูประบบประกันสังคมและภาษี และรัฐมนตรีดูแลการปฏิรูประบบราชการ ของญี่ปุ่น สรุปดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีฯ ชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่น และมิตรภาพที่สองประเทศมีให้กันมาอย่างยาวนาน และมีการสนับสนุนส่งเสริมกันในความร่วมมือต่างๆทั้งทวิภาคีและพหุภาคี และในโอกาสที่เมียนมาร์มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทบาทของไทยต่อเมียนมาร์ก็จะยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจก็มารถดำเนินการได้มากขึ้น การพัฒนาทางประชาธิปไตยของเมียนมาร์จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความรุ่งเรืองและมั่นคง ซึ่งไทยและญี่ปุ่นสามารถร่วมมมือกันได้ในหลายๆด้าน นอกจากนี้ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็มีความสำคัญ และมีหลายสิ่งที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ร่วมมือกันเช่นกัน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมต่อบทบาทของญี่ปุ่นในกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาค โดยที่ไทยและญี่ปุ่นก็เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในไทยและในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ จะได้มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดบทบาทและขอบเขตการดำเนินงานต่อไป เพื่อให้มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น