xs
xsm
sm
md
lg

"เจโทร"ผวาน้ำท่วมอีก"เอาไม่อยู่"-ไม่เชื่อน้ำยา"ปู"-จี้รัฐบาลแจงมาตรการให้ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์" เรียกความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่น ชู 3 ปัจจัยหลักมัดใจ ทั้งแผนป้องกันน้ำท่วม นโยบายลดภาษีนิติบุคคล และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ไทยจะเป็นประตูสู่ตลาด"อาเซียน" ด้านประธานเจโทรเป็นห่วงไทยเจอน้ำท่วมรอบใหม่ แล้ว"ปู เอาไม่อยู่" จี้รัฐแจงมาตรการให้ชัดเจน ขณะที่นายกฯคุยมีเงินกู้ 3.5 แสนล้าน วางระบบจัดการได้แน่

ภารกิจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 08.50 น. วานนี้ (7 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางออกจากพระราชวัง Akasaka ซึ่งเป็นที่พักรับรองของรัฐบาลญี่ปุ่น ไปยังโรงแรม Imperial เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีเปิดงานสัมมนานักธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีนักธุรกิจ และนักลงทุนของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย และสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,200 คน เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนานักธุรกิจ เป็นลำดับต่อจากนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจไทยกว่า 20 คน จากสาขาต่างๆ อาทิ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท บริษัทโตชิบาไทยแลนด์ บริษัทเบทาโกร บริษัทสหฟาร์ม และกลุ่มบริษัทไออาร์พีซี เป็นต้น ซึ่งประสงค์ขยายธุรกิจกับนักลงทุนญี่ปุ่น เข้าร่วมงาน และพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่นในโอกาสนี้ด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อผู้ร่วมสัมมนาว่า รู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้รับเชิญมาในงานนี้ และมีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศเก่า ที่เชื่อมอนาคตทางเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยกัน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ตั้งแต่ 125 ปีที่แล้ว จนกระทั่งกลายเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ผ่านการร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และในทุกวันนี้ ประเทศญี่ปุ่น และภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการช่วยพัฒนาประเทศไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8.3 โดยญี่ปุ่นเอง ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อีกด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา มีการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นจำนวนทั้งสิ้นร้อยละ 49 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังได้มีการทำการวิจัย และพัฒนา รวมถึง การออกแบบสินค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยที่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาของไทย เพิ่งได้อนุมัติให้มีการขยายการเจรจาภายใต้ความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพิ่มอีก 5 สาขา ได้แก่ การค้า (Trade) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) การบริการ (Services) การลงทุน (Investment) และ การดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันของ JTEPA (Implementing JTEPA Commitments)

"ไทยและญี่ปุ่นต่างมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ และต่อไปโลกจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้การรวมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นเองเสมือนตัวเชื่อมหลักในการเร่งปฏิกิริยาการเติบโต และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของภูมิภาคนี้" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

นายกรัฐมนตรีไทย ยังได้กล่าวถึงการประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศด้วยว่า แม้ในปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างได้รับความสูญเสียจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรง แต่ด้วยความช่วยเหลือ และการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทำให้เราสามารถผ่านพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ไปได้ ซึ่งประเทศไทยขอขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ และความมั่นใจจากประเทศญี่ปุ่น หากเราสองประเทศร่วมมือกันแล้ว ประเทศไทยย่อมจะแข็งแกร่ง และมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวสร้างความเชื่อมั่นในการเสริมศักยภาพของประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิมว่า ประเทศไทยมีข้อเสนอที่ชาติอื่นไม่สามารถแข่งด้วยได้ และมีโอกาสแห่งการลงทุนที่ไม่มีชาติใดเทียบเคียงได้ พร้อมกับการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งกับญี่ปุ่น (An Unbeatable Thailand with Unparalleled Opportunities)

ประการแรก รัฐบาลได้วางระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันนิคมอุตสาหกรรม และเขตชุมชน โดยรัฐบาลจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอุทกภัย และความเสียหายรุนแรงดังในปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการในการป้องกัน ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยในปีนี้เราจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนการบริหารน้ำทั้งระบบ จะถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท โดยตนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ และจุดสำคัญต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ด้วยตนเอง และมีการหารือทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้แน่ใจได้ว่า จะได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆในขณะนี้ว่า เขื่อน และทำนบต่างๆ ได้รับการสร้างและซ่อมแซมให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เรากำลังสร้างแนวคันกันน้ำ เพื่อป้องกันบริเวณรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม มีการยกระดับถนนให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นอีก ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และการขนส่งจะไม่ติดขัด

นอกจากนี้ จะมีการสร้างที่เก็บกักน้ำ คลอง และแหล่งน้ำต่างๆจะได้รับการขุดลอก และมีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการประกันภัยให้แก่บริษัทที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อบูรณาการองค์ประกอบต่างๆให้ตอบสนองอย่างทันเวลา

สำหรับโครงการระยะยาวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จะมีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ อย่างยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะมีการเชื่อมโยงกับเครือข่าย ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า หากนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนในอนาคตกับประเทศไทย รัฐบาลจะปกป้องการลงทุนของท่านจากน้ำท่วม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจัยประการที่ 2 ประเทศไทยมีนโยบายที่สนับสนุนการผลิต และเศรษฐกิจแบบพลวัตร ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนต่างชาติ ที่มีการเชื่อมโยงในภูมิภาค และโลก ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีฝีมือ และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง นั่นคือ เหตุผลที่แม้จะมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น ยังมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยจะเพิ่มขึ้น คือประมาณร้อยละ 5 และในปี 2013 เป็นประมาณร้อยละ 5.6 ถึงแม้จะมีอุทกภัยดังกล่าวในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เดินทางมาประเทศไทยกว่า 1.1 ล้านคน เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปีนี้ และจะลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปีถัดไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทยได้อย่างสะดวกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้มีประสิทธิผล และทนต่อภัยพิบัติในระยะยาว และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ อาทิ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย การเพิ่มความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และต่อไปยังภูมิภาคอื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าของการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในภูมิภาคนี้อีกด้วย ทุกวันนี้ เส้นทางคมนาคม ลุ่มแม่น้ำโขงทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เหนือจรดใต้ ประตูเศรษฐกิจทางใต้ ที่มีการเชื่อมโยงผ่านถนน ทางรถไฟ เส้นทางเครือข่าย กำลังจะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ โดยมีการสนับสนุนผ่านแผนแม่บทเชื่อมโยงเครือข่ายอาเซียน และเครือข่ายหุ้นส่วนเอเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยเป็นประเทศเริ่มต้นในการนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งในโครงการสำคัญ ที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคนั่นคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ประเทศไทยร่วมมือกับประเทศเมียนมาร์ ในการพัฒนา ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ จะไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและการพัฒนาในประเทศเมียนมาร์เท่านั้น แต่ยังจะช่วยขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย และภูมิภาคในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

ประการที่ 3 ประเทศไทยยังเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อสินค้า และผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นกับประเทศอื่นในอาเซียน ตลาดอาเซียนเป็นตลาดเดียวขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน หรือ GDP รวมกันประมาณ 143.4 ล้านล้านเยน และมีค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งประชาคมอาเซียน เปิดโอกาสสำหรับการเติบโตในภูมิภาค ทั้งด้านการขนส่ง พลังงาน สุขภาพ การท่องเที่ยว และการเกษตร เนื่องจาก ประเทศไทยมีจุดเด่นในหลายอุตสาหกรรม จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองต่อพลวัตรการเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียนและการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาค

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน และเชื่อมั่นว่า ด้วยนโยบายที่สนับสนุนการลงทุน ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ เช่นนี้ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะยังคงเติบโต โดยมีภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นเสาหลักของการเป็นหุ้นส่วนในอนาคตที่จะถึงนี้

** รมต.ศก.ญี่ปุ่นหนุนลงทุนในไทย

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้นายยูกิโอะ เอดาโนะ รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น เข้าพบ โดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกความมั่นใจเกี่ยวกับแผน และมาตรการฟื้นฟูประเทศ ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้ ทั้งการจัดตั้งองค์การบริหารน้ำ การปรับปรุงประสิทธิภาพการป้องกันน้ำ และการปรับปรุงระบบพยากรณ์

ในขณะที่ในระยะยาว ได้มีการจัดแผนบริหารจัดการน้ำต่างๆโดยได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้วหลังจากที่รัฐสภาได้เห็นขอบร่าง พ.ร.ก.เงินกู้

ด้านนายยูกิโอะ เอดาโนะได้แสดงความเข้าใจต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รวมทั้งชื่นชมไทย ที่ให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และจะสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของไทย โดยยืนยันจะสนับสนุนการลงทุนในไทยต่อไป พร้อมกับใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาค และจะผลักดันการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

**JFCหนุนธุรกิจSMEs

ต่อมาเวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ห้อง Salon โรงแรม Imperial ประเทศญี่ปุ่น นาย Shosaku Yasui ประธานบรรษัทการเงินญี่ปุ่น (Japan Financial Corporation - JFC) สาขากลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.พาณิชย์ และรมว.อุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีที่มีโอกาสพบกับผู้แทนของ JFC ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ และขอบคุณประธานบรรษัทฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างสองประเทศ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า SMEs ญี่ปุ่นในไทย มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตของทั้งไทยและญี่ปุ่น รัฐบาลจึงได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยที่ผ่านมา

สำหรับการดูแลภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่สำคัญได้อนุมัติงบประมาณสำหรับเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยและภาคธุรกิจ รวมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้นกว่า 3.82 แสนล้านบาท หรือ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงขอให้ญี่ปุ่นวางใจ และมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกับธุรกิจไทย

นายกฯยังกล่าวถึงด้านการประกันภัยว่า รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการ โดยเบื้องต้นกองทุนจะให้ความคุ้มครองแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) ซึ่งกำหนดวงเงินสูงสุดที่กองทุนจะรับจ่ายค่าสินไหมทดแทนอยู่ที่อัตราร้อยละ 30 ของทุนประกันสำหรับแต่ละผู้ประกอบการ และมีแผนจะประกาศขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติภายในเดือนมี.ค.นี้

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และการดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะเติบโตประมาณร้อยละ 4.5 - 5 ในปี 55 ในการนี้ จึงต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยให้มากขึ้น โดยเน้นอุตสาหกรรมหลัก 8 สาขา ได้แก่ 1. ยานยนต์ 2. ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ 3 . อากาศยาน 4. ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนต่าง ๆ 5. การแปรรูปเกษตรและอาหาร 6. พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 7. บริการ และ 8. ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์
ด้านนาย Shosaku Yasui ประธานบรรษัทการเงินญี่ปุ่น ได้แสดงความยินดี และชื่นชมแนวทางและมาตรการการป้องกันอุทกภัยของรัฐบาล และได้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย ที่ให้การดูแลและช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ของญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะมาตรการความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย

ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยในไทย JFC ได้ให้ความร่วมมือทางการเงินแก่ SMEs ของญี่ปุ่น ที่ประกอบธุรกิจในไทยซึ่งประสบอุทกภัย โดยการให้เงินกู้วงเงินจำนวน 720 ล้านเยน แก่บริษัทแม่ในญี่ปุ่น เพื่อนำไปฟื้นฟูบริษัทสาขาในไทย รวมทั้ง การดำเนินการปล่อยกู้เป็นเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทย เพราะเห็นว่าไทยเป็นฐานการผลิตที่มีอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industries) ที่ครอบคลุม มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพรียบพร้อม มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนและการขยายการลงทุนของ SMEs ญี่ปุ่นในไทยต่อไป

** JETROห่วงน้ำท่วมซ้ำ“ปูเอาไม่อยู่”

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้ นาย Hiroyuki Ishigi ประธานประธานองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) เข้าเยี่ยมคารวะ และหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันอุทกภัยของรัฐบาล และการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม

นาย Hiroyuki กล่าวแสดงความยินดี ที่การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นดำเนินมาอย่างราบรื่น แม้จะมีอุปสรรคด้านพิบัติภัยธรรมชาติ แต่ทั้งไทยและญี่ปุ่น ก็ร่วมมือกันช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

เมื่อครั้งที่ไทยประสบอุทกภัย JETRO ก็มีความเป็นห่วง และเห็นใจเป็นอย่างมาก และเพื่อให้การค้าการลงทุนดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น JETRO ได้เดินสายจัดสัมมนา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในไทย เพราะอุตสาหกรรมไทยมีความสำคัญอย่างมากต่อญี่ปุ่น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ทั้งนี้ ทราบว่า ร้อยละ 50 ของบริษัทญี่ปุ่นในไทย เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหา ค่าเงินเยนแข็งค่า ทำให้นักธุรกิจสนใจการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย แต่ยังมีความกังวลเรื่องอุทกภัย

ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ที่โตเกียว จะได้สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ JETRO ขอเสนอข้อคิดเห็นให้รัฐบาลให้ความชัดเจนด้านมาตรการป้องกันน้ำท่วม การบริหารจัดการข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว และเรื่องการประกันภัย

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวแสดงความขอบคุณต่อความร่วมมือจาก JETRO ที่มีต่อไทยอย่างยาวนาน และดียิ่ง ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันเป็นไปด้วยดี ทั้งนี้ หากภาคธุรกิจมีปัญหาใด รัฐบาลก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ

** คาดชาวญี่ปุ่นเที่ยวไทย 1.2 ล้านคน

เวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ห้อง Salon โรงแรมอิมพีเรียล คณะบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรีและคณะ โดยคณะผู้ประกอบการการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ต่างแสดงความสำคัญของการส่งเสริมและขยายการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น โดยมีการตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาไทยจำนวนถึง 1.2 ล้านคนในปีนี้ และเมื่อไทย-ญี่ปุ่น ต่างประสบวิบัติภัยธรรมชาติ ประชาชนญี่ปุ่นและไทยต่างแสดงมิตรภาพ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกด้าน โดยการท่องเที่ยวถือเป็นนโยบายสำคัญในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ภายหลังประสบภัยธรรมชาติด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทนำเที่ยวญี่ปุ่น ได้จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “Beautiful Thailand”

**ให้ความมั่นใจ"เคดันเร็น"

เวลา 12.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ห้อง Tsuru Room โรงแรม Imperial นายกรัฐมนตรี และคณะร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยมีสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) เป็นเจ้าภาพ โดย นาย Yoji Ohashi รองประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ หลังจากนั้น เวลา 14.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ห้อง Peacook Room ชั้น 2 โรงแรม Imperial น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีเปิดการหารือระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเอกชนของไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น ที่มีแผนจะขยายการลงทุนในไทย อาทิ Toshiba, Honda, Toyota, Nissan Motor, Mitsubishi Motor Cooperation, Isuzu Motor เป็นต้น

** มอบนกกระเรียนพับให้"ปู"

เวลา 15.00 น. ณ.โรงแรมอิมพีเรียล คณะตัวแทนมหาวิทยาลัยสตรี Gakushuin เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรี โดยคณะตัวแทนได้กล่าวแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่เปิดโอกาสให้เข้าพบ เพื่อนำนกกระเรียน 1,000 ตัว ที่นักศึกษาได้ช่วยกันพับ เพื่อเป็นตัวแทนแสดงความขอบคุณ และความซาบซึ้งใจที่ญี่ปุ่นได้รับจากประชาชนไทย เมื่อครั้งญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติสึนามิ เมื่อเดือนมี.ค.ปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษายังได้กล่าวแสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือจากราชวงศ์ไทย และประชาชนไทย น้ำใจเหล่านี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และความผูกพันธุ์ที่ใกล้ชิดและแนบแน่นระหว่างไทยและญี่ปุ่น ที่ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่ประสบความยากลำบาก

ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความขอบคุณในนามของประชาชนไทยและขอเป็นตัวกลางในการสื่อสารความซาบซึ้งและมิตรภาพจากญี่ปุ่นไปยังประชาชนไทย พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่นที่มีความใกล้ชิดในทุกระดับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น