xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โวญี่ปุ่น ปีนี้เอาอยู่ แม้น้ำมากอุตฯ ไม่สะดุด ลดภาษีนิติบุคคลล่อใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเพื่อเรียกความเชื่อมั่นพร้อมพบปะหารือนักธุรกิจญี่ปุ่นในงานสัมมนาจัดโดย BOI
“ยิ่งลักษณ์” จ้อสัมมนา BOI ชู 3 ปัจจัยมัดใจนักธุรกิจยุ่น โวปีนี้น้ำมากภาคอุตสาหกรรมไม่สะดุดแน่ อวดนโยบายลดภาษีนิติบุคคลล่อใจลงทุนเพิ่ม แบะท่าให้ใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน


วันนี้ (7 มี.ค.) เวลา 08.50 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากพระราชวัง Akasaka ซึ่งเป็นที่พักรับรองของรัฐบาลญี่ปุ่น ไปยังโรงแรมอิมพีเรียล เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานสัมมนานักธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีนักธุรกิจและนักลงทุนของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยและสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,200 คน

ทั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฝ่ายไทย ประกอบไปด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนานักธุรกิจ เป็นลำดับต่อจากนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจไทยกว่า 20 คนจากสาขาต่างๆ เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ บริษัทเบทาโกร บริษัทสหฟาร์ม และกลุ่มบริษัทไออาร์พีซี เป็นต้น ซึ่งประสงค์ขยายธุรกิจกับนักลงทุนญี่ปุ่น เข้าร่วมงานและพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่นในโอกาสนี้ด้วย

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อผู้ร่วมสัมมนาว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาในงานนี้ และมีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศเก่า ที่เชื่อมอนาคตทางเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยกัน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ 125 ปีที่แล้ว จนกระทั่งกลายเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ผ่านการร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และในทุกวันนี้ ประเทศญี่ปุ่นและภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยพัฒนาประเทศไทย ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8.3 โดยญี่ปุ่นเองยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นจำนวนทั้งสิ้นร้อยละ 49 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังได้มีการทำการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการออกแบบสินค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยที่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาของไทยเพิ่งได้อนุมัติให้มีการขยายการเจรจาภายใต้ความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพิ่มอีก 5 สาขา ได้แก่ การค้า (Trade) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) การบริการ (Services) การลงทุน (Investment) และการดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันของ JTEPA (Implementing JTEPA Commitments)

“ไทยและญี่ปุ่นต่างมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ และต่อไปโลกจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้การรวมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นเองเสมือนตัวเชื่อมหลักในการเร่งปฏิกิริยาการเติบโตและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของภูมิภาคนี้” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ

นายกรัฐมนตรีไทยยังได้กล่าวถึงการประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศด้วยว่า แม้ในปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างได้รับความสูญเสียจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรง แต่ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทำให้เราสามารถผ่านพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ไปได้ ซึ่งประเทศไทยขอขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือและความมั่นใจจากประเทศญี่ปุ่น หากเราสองประเทศร่วมมือกันแล้ว ประเทศไทยย่อมจะแข็งแกร่งและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้กล่าวสร้างความเชื่อมั่นในการเสริมศักยภาพของประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม ว่า ประเทศไทยมีข้อเสนอที่ชาติอื่นไม่สามารถแข่งด้วยได้ และมีโอกาสแห่งการลงทุนที่ไม่มีชาติใดเทียบเคียงได้ พร้อมกับการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งกับญี่ปุ่น (An Unbeatable Thailand with Unparalleled Opportunities)

ประการแรก รัฐบาลได้วางระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันนิคมอุตสาหกรรมและเขตชุมชน โดยรัฐบาลจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอุทกภัยและความเสียหายรุนแรงดังในปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการในการป้องกัน ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยในปีนี้เราจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนการบริหารน้ำทั้งระบบจะถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท โดยตนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่และจุดสำคัญต่างๆตามแผนที่วางไว้ด้วยตนเอง และมีการหารือทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ในขณะนี้ว่า เขื่อนและทำนบต่างๆ ได้รับการสร้างและซ่อมแซมให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เรากำลังสร้างแนวคันกันน้ำเพื่อป้องกันบริเวณรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม มีการยกระดับถนนให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นอีก ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและการขนส่งจะไม่ติดขัด นอกจากนี้จะมีการสร้างที่เก็บกักน้ำ คลองและแหล่งน้ำต่างๆ จะได้รับการขุดลอก และมีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการประกันภัยให้แก่บริษัทที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อบูรณาการองค์ประกอบต่างๆ ให้ตอบสนองอย่างทันเวลา

สำหรับโครงการระยะยาวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะมีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ อย่างยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าหากนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนในอนาคตกับประเทศไทย รัฐบาลจะปกป้องการลงทุนของท่านจากน้ำท่วม

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของปัจจัยประการที่ 2 ประเทศไทยมีนโยบายที่สนับสนุนการผลิตและเศรษฐกิจแบบพลวัตร ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนต่างชาติ ที่มีการเชื่อมโยงในภูมิภาคและโลก ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีฝีมือ และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง นั่นคือเหตุผลที่แม้จะมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น ยังมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยจะเพิ่มขึ้น คือประมาณร้อยละ 5 และในปี 2013 เป็นประมาณร้อยละ 5.6 ถึงแม้จะมีอุทกภัยดังกล่าวในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยกว่า 1.1 ล้านคน เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปีนี้ และจะลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปีถัดไป นอกจากนี้ ประเทศไทยจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทยได้อย่างสะดวกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้มีประสิทธิผลและทนต่อภัยพิบัติในระยะยาว และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ อาทิ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย การเพิ่มความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และต่อไปยังภูมิภาคอื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น.ส.ยิ่งลักษณ์อธิบายด้วยว่า โครงการตี่รางๆนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในภูมิภาคนี้อีกด้วย ทุกวันนี้ เส้นทางคมนาคมลุ่มแม่น้ำโขงทิศตะวันออก ไปยังทิศตะวันตก เหนือจดใต้ ประตูเศรษฐกิจทางใต้ ที่มีการเชื่อมโยงผ่านถนน ทางรถไฟ เส้นทางเครือข่าย กำลังจะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ โดยมีการสนับสนุนผ่านแผนแม่บทเชื่อมโยงเครือข่ายอาเซียนและเครือข่ายหุ้นส่วนเอเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยเป็นประเทศเริ่มต้นในการนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคนั่นคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ประเทศไทยร่วมมือกับประเทศเมียนมาร์ในการพัฒนา ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและการพัฒนาในประเทศเมียนมาร์เท่านั้น แต่ยังจะช่วยขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยและภูมิภาคในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ประการที่ 3 ประเทศไทยยังเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นกับประเทศอื่นในอาเซียน ตลาดอาเซียนเป็นตลาดเดียวขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน หรือ GDP รวมกันประมาณ 143.4 ล้านล้านเยน และมีค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งประชาคมอาเซียนเปิดโอกาสสำหรับการเติบโตในภูมิภาค ทั้งด้านการขนส่ง พลังงาน สุขภาพ การท่องเที่ยวและการเกษตร เนื่องจาก ประเทศไทยมีจุดเด่นในหลายอุตสาหกรรม จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อพลวัตรการเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียนและการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาค

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน และเชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายที่สนับสนุนการลงทุน ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ เช่นนี้ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจะยังคงเติบโต โดยมีภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นเสาหลักของการเป็นหุ้นส่วนในอนาคตที่จะถึงนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น