xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเขื่อนแม่วงก์ หยุดทำลายล้างผืนป่าตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ก่อตัวขึ้นแล้ว และกระจายไปในเคริอข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเงียบๆ แต่รวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้คนไทย ถูกปลุกขึ้นมาให้ความสนใจเรื่องที่แป็นผลประโยชน์ของชาติและประชาชน หลังจากถูกมอมเมาให้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของคนคนเดียวที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดมานานนับเดือน

แถลงการณ์ของภาคประชาชนและองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น กลุ่มราษฎร์รักษ์ป่า แห่งตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และกลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันในนามคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (กคอทส.) ที่คัดค้านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ที่อนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมคิดร่วมติดตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งบอกว่าการเมืองภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวทางสังคมยังดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจของโครงสร้างเบื้องบน ไม่ได้ล่มสลายสูญหายไป เพียงแต่อยู่และดำเนินกิจกรรมอย่างเงียบๆ ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ ในอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่บางส่วนในอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

กรมชลประทานตั้งประมาณก่อสร้างไว้ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า จะช่วยป้องกันน้ำท่วม และเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตร แลกกับการสูญเสียพื้นที่ป่า 13,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่อุทยานเท่านั้น แต่สิ่งที่กรมชลประทานไม่ได้ใส่ไว้ในรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือ พื้นที่ที่ต้องสูญเสียนั้นเป็นป่าที่ลุ่ม ซึ่งมีความหนาแน่นของพรรณไม้สูงมาก และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มและใกล้แม่น้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของสัตว์ป่า รวมถึงทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เนื่องจากป่าถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน

ป่าแม่วงก์เป็นป่าที่มีทรัพยากรสมบูรณ์และเป็นป่าต่อเนื่องผืนเดียวกับผืนป่าตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร สภาพพื้นที่ป่ามีหลายประเภท ทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 549 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา และสัตว์ป่าหายากหรือใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด เช่น กระทิง วัวแดง หมาจิ้งจอก ค่างแว่นถิ่นเหนือ เสือโคร่ง เสือดำหรือเสือดาว เป็นต้น

การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่ใช่แค่การสูญเสียพื้นที่ป่า 1.3 หมื่นไร่เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอีกหลายหมื่นไร่ ซึ่งเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงมีมติไม่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ.)ของกรมชลประทานเมื่อต้นปี 2545 เพราะเห็นว่าเป็นการศึกษาที่ไม่รอบด้านโดยเฉพาะผลกระทบต่อผืนป่าหลายหมื่นไร่

เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะที่จังหวัดนครสวรรค์ ปลายปี 2553 โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 โดยคาดว่าจะศึกษาผลกระทบเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2555 แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งปลายปีที่แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ฉวยโอกาสลักไก่อ้างเรื่องป้องกันน้ำท่วม อนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ด้วยงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ทั้งที่รายงาน อีไอเอ.ฉบับใหม่ยังทำไม่เสร็จ และปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว และครั้งก่อนๆ หน้านั้น พิสูจน์แล้วว่าเขื่อนขนาดใหญ่ป้องกันน้ำท่วมไม่อยู่

นายกฯ นกแก้วคงลืมไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนได้พูดถึงการนำคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบบริหารและจัดการน้ำ หรือ กยน. เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ได้น้อมรับพระราชดำริเรื่องการปลูกป่าและรักษาหน้าดินเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนพร้อมรักษาความสมดุลการกักเก็บน้ำให้สามารถบริหารน้ำได้ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเพื่อเกษตรกรรม

นอกจากนั้น ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำชับว่า แผนการปลูกป่าถือเป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนต้องช่วยกัน หลังจากนี้พื้นที่ไหนจะปลูกไม้เนื้อแข็งหรือปลูกไม้เนื้ออ่อน ต้องระบุให้ชัด โดยให้กรมวิชาการเกษตรมาช่วยวิเคราะห์ ในส่วนของการปลูกป่าจะแบ่งพื้นที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกองทัพร่วมกับกำหนดพื้นที่


เวลาผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน วาระแห่งชาติเรื่องการปลูกป่ากลายเป็นเรื่องแหกตาประชาชน เหมือนเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง แต่กลับไฟเขียวให้ทำลายผืนป่าตะวันตกที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดนับหมื่นๆ ไร่ โดยอ้างการแก้ปัญหาน้ำท่วมบังหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น