xs
xsm
sm
md
lg

ส.ต้านโลกร้อน โวยรัฐเร่งรัดสร้างเขื่อนแม่วงก์ ผลาญงบ 9 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” อ้าง “รบ.ปู” ใช้ข้ออ้างน้ำท่วมปี 54 มาเป็นตัวแปรสร้างความชอบธรรม เร่งรัดสร้างเมกะโปรเจกต์เขื่อนแม่วงก์ เผย หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ชาติต้องสูญพื้นที่ป่า 1.3 หมื่นไร่ เชื่อ พบช่องทางทุจริตรัฐ ใช้เขื่อนบังหน้า หวังผลาญงบชาติกว่า 9 พันล้านบาท

วันนี้ (12 เม.ย.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ในกรณีที่มุ่งผลาญงบประมาณทำลายแหล่งดูดซับโลกร้อน โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบข้อเสนอของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ จ.นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งติดต่อกับผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร โดยพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีข้ออ้างที่เป็นสูตรสำเร็จของรัฐบาล คือ การป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง มีเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางมากกว่า 10 เขื่อนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2554 ได้

อีกทั้งโครงการดังกล่าว ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 และยังเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

“แต่รัฐบาลยุคนี้ กลับใช้ข้ออ้างปัญหาน้ำท่วม เมื่อปี 2554 มาเป็นตัวประกัน เพื่อสร้างความชอบธรรม ในการเร่งรีบการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยมิได้พิจารณาเลยว่า น้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งระบบ มากกว่าการไม่มีเขื่อนต่างหาก” สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุ

นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปมากกว่า 13,000 ไร่ ต้องสูญเสียผืนป่าแหล่งดูดซับก๊าซที่ก่อปัญหาโลกร้อน โดยมีไม้สักหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งจะถูกนำมาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ ในการทำสัมปทานไม้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท นอกจากนั้น ลักษณะเด่นของผืนป่าแม่วงก์ คือ มีสภาพเป็นป่าลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากป่าในบริเวณที่สูงกว่า เพราะเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะในหน้าแล้ง สัตว์ป่าบางชนิดจะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลุ่ม หรือใกล้แม่น้ำเท่านั้น ป่าที่ลุ่มในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็เหลืออยู่น้อยมาก หากถูกน้ำท่วมอ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของสัตว์ป่าและแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นสองส่วน จึงนับว่าเป็นการสูญเสียในด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้

นอกจากนั้น มีข้อที่น่าสังเกต คือ เมื่อมีการเสนอโครงการนี้ใหม่ๆ ในช่วงปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือน กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท อันเป็นข้อน่าสงสัยว่า จะเป็นโครงการผลาญงบประมาณของชาติอีกโครงการหนึ่ง จากเงินกู้ 3.5 แสนล้านหรือไม่

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ที่สำคัญ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียก่อน โดยเฉพาะในมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 85 และมาตรา 87 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลรวบรัดดำเนินการ และใช้เทคนิคเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย สมาคมฯ และชาวบ้านก็พร้อมจะใช้กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 60 และมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าวแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น