xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

น้ำท่วม...สร้างเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ในวงเงินงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562

ทั้งนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดเขื่อนแม่วงก์ ว่า จะสร้างขึ้นบริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำสะแกกรัง ลำห้วยทับเสลา และห้วยแม่วงก์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 พัน ตร.กม. ใน จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร สามารถรองรับน้ำได้ 1.3 พันล้าน ลบ.ม. ต่อปี หากนับเฉพาะในช่วงหน้าฝน จะสามารถรองรับน้ำได้ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งเขื่อนแม่วงก์ จะเป็นตัวควบคุมมวลน้ำให้สัมพันธ์กับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านล่างลงมาคือ จ.พระนครศรีอยุธยา และ กทม.

รัฐบาลอาศัยวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 เป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนจนได้
 

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ก็ออกแถลงการณ์มาคัดค้านทันที โดยระบุว่า เขื่อนแม่วงก์ที่จะสร้างนี้ กินพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งติดต่อกับผืนป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ

หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปกว่า 13,000 ไร่ และเป็นพื้นที่ทีมีไม้สักหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่

นี่ยังไม่นับการสูญเสียในด้านระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้

แต่ในมุมของรัฐบาล นอกจากจะมีค่าหัวคิวจากงบก่อสร้าง 1.3 หมื่นล้านแล้ว ยังมีผลประโยชน์ จากการสัมปทานไม้ มูลค่านับหมื่นล้านบาท ชนิดที่ว่าชักลากไม้กัน 4-5 ปี ยังไม่หมด

ความจริงเขื่อนแม่วงก์นี้ กรมชลประทาน เสนอให้สร้างตั้งแต่ปี 2528 ความจุน้ำ 380ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบฯก่อสร้าง 3,187 ล้านบาท ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท แต่ลดความจุของเขื่อน เหลือเพียง 258 ล้านลบ.ม. แต่ในวันที่ ครม.อนุมัตินี้ วงเงินก่อสร้างกลับพุ่งพรวดขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้าน

ที่สำคัญคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( อีไอเอ ) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 โดยให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการ มากกว่าที่จะใช้วิธีสร้างเขื่อน

อีกทั้ง ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง มีเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มากกว่า 10 เขื่อนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลมีความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำต่างหาก

เชื่อว่าจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กันอย่างขนานใหญ่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น