xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสืบฯ นำทัพองค์กรสิ่งแวดล้อมต้านเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การอนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์มูลค่า 1.3 หมื่นล้านของครม.ยิ่งลักษณ์อย่างมีพิรุธและไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้ข้ออ้างเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกำลังเผชิญแรงต้านอย่างกว้างขวาง ล่าสุดมูลนิธิสืบฯ นำทัพใหญ่ 18 องค์กรสิ่งแวดล้อมคัดค้าน หยุดยั้งการทำลายผืนป่าและสัตว์ป่าหายากในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก “หงา สุรชัย” ประธานกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าฯ ร่วมค้านด้วย

กระแสการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม องค์กรชุมชน และภาคประชาชน เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา อนุมัติให้ก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งถือเป็น “พี่ใหญ่” ในวงการสิ่งแวดล้อมซึ่งทำหน้าที่สืบทอดปฏิญาณรักษาผืนป่าตะวันตกด้วยชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ได้ออกจดหมายเปิดผนึกส่งถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมกับองค์กรเครือข่าย 18 องค์กร

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์พร้อมกับเปิดเฟซบุ๊กกลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 13,280 คน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าก่อสร้าง ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครอง ขณะเดียวกัน อดีตสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.) ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านเขื่อนน้ำโจนจนสำเร็จได้รวมตัวกันคัดค้านเขื่อนแม่วงก์อีกครั้ง

เนื้อหาจดหมายที่มูลนิธิสืบฯ และเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมยื่นต่อนายกรัฐมนตรีระบุว่า สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจะใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท และใช้เวลาในการก่อสร้าง 8 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยจะให้มีการเร่งรัดสำรวจผลกระทบต่อชุมชน และเร่งรัดการอนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั้น

มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรายนามแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ซึ่งได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ขอคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเหตุผลประกอบการคัดค้านหลัก ดังนี้

1. การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นการทำลายระบบนิเวศของผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และผืนป่าตะวันตก :

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญคือลำน้ำแม่วงก์ หรือห้วยแม่เรวา ซึ่งเป็นลำน้ำที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ลำน้ำแม่วงก์ยังคงมีคุณภาพและปริมาณน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรมบริเวณชุมชนในอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อย่างต่อเนื่องตลอดปี และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา

ในด้านสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ปัจจุบันเป็นพื้นที่สำคัญในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก ประชากรเสือโคร่งทั้งโลกเหลืออยู่เพียงไม่เกิน 3,200 ตัว ส่วนในประเทศไทยเหลือเสือโคร่งไม่เกิน 250 ตัว และส่วนใหญ่อยู่ในผืนป่าตะวันตก ซึ่งรวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่เสือโคร่งกระจายตัวมาจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่สำคัญในป่าแห่งนี้อีกชนิดหนึ่งคือ นกยูงไทย ซึ่งจากการฟื้นฟูประชากรนกยูงไทยซึ่งมีสถานภาพถูกคุกคาม และไม่มั่นคงในระดับโลกที่ผ่านมาในผืนป่าแม่วงก์ ทำให้ปัจจุบันนกยูงไทยในป่าแห่งนี้กำลังได้รับการฟื้นฟูกระจายพันธุ์กลับคืนสู่บริเวณลานนกยูง ริมลำน้ำแม่วงก์ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติ

2. เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง :

จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ในเขตพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเท โดยเฉพาะในเขตอำเภอลาดยาว เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำจากพื้นที่ ทั้งทางตอนบนจากจังหวัดกำแพงเพชร ทางตะวันออกจากอำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอเก้าเลี้ยว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากอำเภอแม่วงก์ และทางทิศตะวันออกจากอำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง ลักษณะทางธรณีวิทยาเช่นนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมของลำน้ำอีกหลายสายไหลมาบรรจบกันกับน้ำแม่วงก์ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์จึงสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

3. รัฐบาลควรพิจารณาข้อมูลจากการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) :

โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานรับผิดชอบและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้น มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งที่ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบต่อกฎหมาย

โดยทั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรายนามแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้จัดทำรายงานการติดตามและการประเมินผลกระทบโครงการเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งนำเสนอถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเหตุผลที่ไม่ควรดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มาด้วย ลงชื่อ นางรตยา จันทรเทียร - ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ - เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว, ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ - ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย, นายอมร ลิ่วกีรติยุตกุล - สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, นายพันธ์สิริ วินิจจะกุล - ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย, พระครูอรรถกิจ นันทคุณ - ประธานมูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก, นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ - ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ, นายสุรชัย จันทิมาธร - ประธานกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก

นายประกอบ อินชูพงษ์ - ประธานกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์, นางวิไลวรรณ จันทร์พ่วง - ประธานกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอุทัยธานี, นายอดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ - เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง, นายเดช เชี่ยวเขตวิทย์ - ประธานเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดนครสวรรค์, นายณรงค์ แรงกสิกร - เครือข่ายชุมชนคนรักษ์ป่า เขาแม่กระทู้, นายจรินทร์ บัญมัธยะ - ประธานมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร
กำลังโหลดความคิดเห็น