อาจกล่าวได้ว่า จักรยานเป็นพาหนะ "ล่องหน" ที่ถูกมองข้ามมาตลอด แต่ 2-3 ปีให้หลัง มีคนใช้จักรยานบนถนนในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
ทว่าทั้งนโยบายรัฐและสังคมโดยรวม ยังคงมองว่าถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์เท่านั้น พาหนะอื่นเป็นเพียงผู้ขอเข้ามาใช้ ทัศนคติที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่รถยนต์เป็นรากปัญหาของการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และภัยอันตรายบนท้องถนน ทำให้ยากแก่พาหนะอื่นๆ ที่เป็นมิตรแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมแทรกเข้ามาได้
นี่คือเหตุผลที่โครงการ "จักรยานกลางเมือง" เล็งเห็นว่า การรณรงค์ให้สังคมรู้จักใช้ถนนร่วมกัน (share the road campaign) จะช่วยสร้างความตระหนักที่จำเป็นบนท้องถนน โดยให้เริ่มที่การแบ่งปันถนนร่วมกับจักรยาน เพื่อให้มีจุดรวมกระตุ้นความสนใจ และแนวทางการรณรงค์ที่เผยแพร่ได้ง่ายในวงกว้างและมีศักยภาพในการสื่อสารกับสังคมยุคใหม่ได้ดี คือสื่อวิดีโอขนาดสั้น หรือหนังสั้นนั่นเอง
พลังจากสื่อดังกล่าว ทางมูลนิธิโลกสีเขียว จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด เทศกาลหนังสั้น "ปั่นเมือง" ในชื่อตอน Share the Road ขึ้น ซึ่งเป็นหนังสั้นจักรยานครั้งแรกในเมืองไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์การแบ่งปันถนนร่วมกันระหว่างผู้ใช้พาหนะต่างๆ บนท้องถนน รวมทั้งจักรยาน รถเข็น และคนเดิน ภายใต้ธีม "แบ่งปันถนนร่วมกัน"
บอกเล่าได้จาก ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว เราตั้งใจให้หนังสั้นช่วยรณรงค์การแบ่งปันถนนร่วมกัน ให้รถยนต์และผู้ใช้ถนนอื่นๆ สังเกตเห็นจักรยาน ซึ่งเป็นพาหนะล่องหนที่ถูกมองข้ามมาตลอด รู้จักกติกา และหาวิธีอยู่ร่วมกันบนท้องถนน
"การแบ่งปันถนนไม่ได้จำกัดอยู่แต่เลนจักรยานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปแบบอื่นอีก เช่น การกำหนดความเร็วของรถยนต์ให้วิ่งช้าลงเมื่อต้องใช้ถนนร่วมกับคนเดินและจักรยาน เราพยายามเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคมให้ผู้ใช้รถมองเห็นว่าจักรยานและรถชนิดอื่นๆ ก็มีสิทธิใช้ถนนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การเดินทางบนท้องถนนเป็นการเดินทางอย่างเป็นมิตรมากขึ้น และหนังสั้นสามารถสื่อสารประเด็นเหล่านี้ได้อย่างมีพลัง ทำให้คนดูฉุกใจคิด และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้" เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียวเผยถึงความตั้งใจ
ด้าน สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม นักเขียนและพิธีกร หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวถึงภาพรวมของหนังสั้นจักรยานที่ส่งเข้ามาประกวดว่า มีทั้งความแตกต่างและความเหมือนกัน ซึ่งสะท้อนว่าคนขี่จักรยานเป็นผู้มีโอกาสน้อยบนท้องถนน รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็ก และยังต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง
"หนังสั้นทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารับฟังเสียงคนที่เป็นตัวแทนคนปั่นจักรยาน และเมื่อเราได้ยินเสียงนี้ก็ควรเปิดพื้นที่ในหัวใจเราให้มากขึ้น ผมคิดว่าการแบ่งปันพื้นที่บนท้องถนนน่าเริ่มต้นตรงที่การแบ่งพื้นที่ในใจนี่แหละครับ เราน่าจะยินดีเปิดรับรูปแบบยานพาหนะที่หลากหลาย รูปแบบวิถีชีวิตหรือผู้คนที่หลากหลายกว่านี้ และไม่ได้คิดว่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คนที่ขี่จักรยานเองก็เช่นกัน ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุดบนท้องถนนและทุกคนต้องปรับเปลี่ยนมาเพื่อตัวเอง ผมว่าเมื่อทุกคนเปิดพื้นที่หัวใจแล้ว ทุกคนก็น่าจะใช้พื้นที่ถนนอย่างเป็นมิตรและปลอดภัยมากขึ้น"
สำหรับการประกวดครั้งนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 221 ทีม แบ่งเป็น นักศึกษา 104 ทีม และบุคคลทั่วไป 117 ทีม โดยทีมผู้สมัครได้เข้าร่วมอบรม "การรณรงค์แบ่งปันถนนร่วมกันและเทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาบทสำหรับหนังสั้น" เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นแต่ละทีมได้ส่งทรีตเมนต์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเหลือเพียง 10 ทีม โดย 10 ทีมนี้ได้มาพบปะกันใน "วันพบโค้ช" โดยมีผู้เชี่ยวชาญการทำหนังสั้น ได้แก่ คุณเอนก สวัสดิโยดม จากรายการ Hot Short Film คุณกฤติกา เกลี้ยงกลม จาก Bicycle Diary และคุณศุทธวีร์ กาญจนภัคพงค์ จากรายการ Bike Finder เป็นโค้ชให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการทำงาน
ทั้งนี้ มีหนังสั้นที่ผลิตจนสำเร็จ 9 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทนักศึกษา ได้แก่ เรื่อง "แค่ข้าม" ทีมปล่อยพลัง, "จักรยานสีชมพู" ทีม Smile Film, "Cycle of the Memories" ทีม SHUFFLE, และ "LIFT" ทีมเฟี้ยว ส่วนประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ เรื่อง "จัก-กะ-ยืม" ทีมจินตะยกกำลัง3, "ซอยวัดใจ" ทีมชีวิตหลังเลิกงาน, "รักต้องปั่น" ทีมจุงเบยซุเกะ, "เปลี่ยน" ทีม Film RUN และ "perception" ทีม PERCEPTION*
โดยเรื่องที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมประเภทนักศึกษา ได้แก่ LIFT โดย ทีมเฟี้ยว ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณยอดเยี่ยม และเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ จักรยานสีชมพู โดย ทีม Smile Film ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณรองชนะเลิศ และเงินรางวัลจำนวน 35,000 บาท
ส่วนประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ perception โดย ทีม PERCEPTION* ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณยอดเยี่ยม และเงินรางวัลจำนวน 70,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ จัก-กะ-ยืม โดย ทีมจินตะยกกำลัง 3 ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณรองชนะเลิศ และเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท
เห็นได้ว่า หนังสั้นที่ได้รับรางวัลมีความหลากหลาย ทั้งที่เป็นหนังสั้นแนววัยรุ่น แนวสารคดี และแอนิเมชัน แต่ละเรื่องสร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ความไม่เข้าใจและอคติระหว่างผู้ใช้รถยนต์กับผู้ใช้จักรยาน ปัญหาเกี่ยวกับมุมมองและการแบ่งปั่นพื้นที่ถนน ตลอดจนสะท้อนปัญหาของพื้นผิวถนนและมลพิษทางอากาศ ในขณะที่บางเรื่องสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาขี่จักรยานและมีน้ำใจในการแบ่งปันพื้นที่ถนนกันมากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดตามหนังสั้นทั้ง 9 เรื่องได้ที่ www.youtube.com/user/GreenWorldonline
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live