“บางกะเจ้า” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คำว่า “บางกะเจ้า” มักถูกใช้เรียกรวมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้แก่ ต.บางกะเจ้า บางน้ำผึ้ง บางกอบัว บางกระสอบ บางยอ และ ต.ทรงคนอง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “กระเพาะหมู” หรือพื้นที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตีโค้งรอบจนเกือบเป็นเกาะ
พื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากการสะสมของดินตะกอนแม่น้ำ เป็นแหล่งทำสวนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริถึงพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็นผืนป่ากลางกรุงที่ต้องอนุรักษ์ไว้เสมือน “ปอด” ของคนกรุงเทพฯ และคนสมุทรปราการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต จิตใจ และสุขภาพกายที่สมบูรณ์ท่ามกลางความเจริญเติบโตของเมือง
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2520 ให้อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณบางกะเจ้านี้ไว้ และต่อมาก็มีการสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติที่ชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” ขึ้นในเนื้อที่ 148 ไร่ อยู่ในพื้นที่ทางตอนบนของกระเพาะหมู ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามแบบสวนเกษตรดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีพื้นที่ใกล้แค่เอื้อมเพียงแม่น้ำกั้นกับย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ อย่างย่านพระราม 3 ย่านคลองเตย และย่านบางนาก็ตาม
ด้วยสภาพพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ ในปี 2549 นิตยสารไทม์เอเชีย (Time Asia) ฉบับ Best of Asia จึงยกย่องให้บางกะเจ้าเป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย (The Best Urban Oasis) ทำให้บางกะเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวรวมถึงนักปั่นจักรยานทั้งไทยและต่างชาติมาท่องเที่ยวชมบรรยากาศและธรรมชาติของบางกะเจ้ากันมากขึ้น (คลิกอ่าน ปั่นเต็มที่ สูดอากาศดีเต็มปอด ที่ “บางกะเจ้า” ปอดของคนกรุง)
เหตุผลสำคัญที่ทำให้บางกะเจ้ายังคงอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวไว้ได้ ก็คือผังเมืองรวมสมุทรปราการ ที่มีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร แต่วันนี้พื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้ากำลังถูกคุกคาม ก็ด้วยผังเมืองรวมสมุทรปราการเช่นกัน แต่เป็นฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2557 ที่มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ โดยมีเนื้อหาแก้ไขกฎกติกาผังเมืองให้มีการสร้างบ้านจัดสรร สร้างบ้านเดี่ยวในพื้นที่สีเขียวได้
ที่ผ่านมา ผังเมืองในบางกะเจ้าแบ่งออกเป็นสองโซนหลัก ได้แก่ โซนสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และโซนสีขาวทแยงเขียวเป็นโซนอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม เดิมทีปี 2544 พื้นที่ขาวทแยงเขียวไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ปี 2548 ปรับให้สร้างบ้านเดี่ยวขนาดไม่เกิน 200 ตร.ม.ได้แต่ต้องไม่กินที่เกิน 5% ในแต่ละบริเวณที่กำหนดไว้ในผังเมือง และฉบับ 2556 นี้ปรับให้สร้างได้ไม่เกิน 15% ในแต่ละบริเวณ ส่วนพื้นที่เขียวทึบ ในปี 2548 ให้ก่อสร้างได้ 10% ในแต่ละบริเวณ แต่ไม่ให้นำที่ดินไปจัดสรร ปี 2556 ปรับใหม่ให้นำไปจัดสรรบ้านเดี่ยวได้ (ข้อมูลจาก www.greenworld.or.th : บางกะเจ้า…ผังเมืองใหม่เอื้อตัวกินปอด? โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์)
ประโยชน์ด้านหนึ่งของผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้คือการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่มีที่ดินไม่มากนักสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ ขณะที่นายทุนบางรายเริ่มถางและถมที่ดินเพื่อเตรียมการก่อสร้าง รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มมีการขึ้นป้ายประกาศขายที่ดินในบางกะเจ้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการก็ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวตามสื่อต่างๆ รวมถึงหน้าเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557 ว่า
“สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ชี้แจงกรณีการจัดวางผังเมืองรวมสมุทรปราการในพื้นที่บางกะเจ้า ซึ่งบังคับใช้วันที่ 5 ก.พ. 2557 ว่า พื้นที่บางกะเจ้าถูกกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่สีเขียว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2520 ในปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมพื้นที่อยู่หลายฉบับ ได้แก่
1. กฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2535 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้การก่อสร้างอาคารในพื้นที่ต้องมีพื้นที่ว่างร้อยละ 75 ของแปลงที่ดิน ฯลฯ
2. กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งมีการวางผังเมืองครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว 3 ฉบับตั้งแต่ปี 2537 โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสองประเภท ได้แก่ 1.ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ในพื้นที่ชุมชน 2.ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว)
ถ้าพิจารณาจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ (1.กฎกระทวงฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2537), 2.กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 และ 3. กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 )
- ประเด็นที่หนึ่งเรื่องการจัดสรรในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว)(ก.1) ในบริเวณบางกะเจ้านั้น ในผังฉบับปี 2537 และผังปี 2544 นั้นกำหนดให้จัดสรรที่ดินประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดได้ในกิจกรรมรองร้อยละ 10 ส่วนผังฉบับปี 2556 ให้จัดสรรที่ดินได้เฉพาะบ้านเดี่ยวเท่านั้น ในกิจกรรมรองร้อยละ 10 ดังนั้นในผังปี 2556 จึงมิได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนมาทำการจัดสรรในพื้นที่แต่อย่างใด แต่ได้ปรับข้อกำหนดให้เข้มงวดมากขึ้น
- ประเด็นที่สอง การเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมรองในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 นั้น ถ้าพิจารณาจากข้อกำหนดในพื้นที่ ก.3 ในผังปี 2556 นั้น ในกิจกรรมรองร้อยละ 15 นั้นให้ดำเนินการได้เฉพาะ
1. การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน 200 ตารางเมตร 2. การประกอบพาณิชยกรรมที่ไม่ใช่ห้องแถว ตึกแถวพื้นที่ประกอบการไม่เกิน 50 ตารางเมตร
เหตุผลที่เพิ่มเปอร์เซ็นต์นั้นเพราะต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่แบ่งที่ดินให้ลูกหลานสามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กๆ ของตนเองได้ และสามารถค้าขายขนาดเล็กๆ ช่วยเหลือตนเองได้ไม่ต้องขายที่ดินให้นายทุนและเป็นการให้บริการในชุมชนด้วย และอีกเหตุผลคือในพื้นที่ก.3 ทุกบล็อกมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นเกิน 10% แล้วทุกบล็อกหากไม่เพิ่มเปอร์เซ็นต์จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยได้
โดยภาพรวมแล้วผังปี 2556 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และมิได้เพิ่มเติมข้อกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุนแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการประสานความต้องการของชาวบ้านทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
การชี้แจงจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการอาจเข้าใจได้ แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นปัญหานั่นก็คือ การออกประกาศผังเมืองใหม่นี้ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องผังเมืองใหม่นี้ มารู้อีกทีก็เมื่อประกาศใช้ ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่เสียก่อน
ในประเด็นนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนักกฎหมายที่เข้ามาร่วมเป็นหัวหอกจัดการตรวจสอบผังเมืองบางกะเจ้า ให้สัมภาษณ์ว่า สามารถส่งเรื่องเพื่อฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยความต้องการหลักของการฟ้องศาลปกครองคือต้องการให้ทำประชาพิจารณ์ เพราะขั้นตอนสำคัญคือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงนั้นไม่ได้ดำเนินการ จึงน่าจะขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นก็สามารถฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนกฎกระทรวงนี้ได้
“ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้อึดอัดกับข้อจำกัดของการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่เขาก็ทำสวนเกษตรเป็นหลัก ในผังเมืองเดิมเขาก็ยังมีสิทธิ์ที่จะปลูกสร้างบ้านได้ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร แต่การที่อยู่ๆ มาขยายการสร้างบ้านจาก 5% เป็น 15% นั้นมันเป็นประโยชน์ของผู้ประกอบการที่จะมาทำพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นสิ่งปลูกสร้างเพิ่มมากขึ้น ทำให้เมืองของเขากลายเป็นตึกรามบ้านช่องมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประโยชน์ของชาวบ้านมากกว่า” นายศรีสุวรรณกล่าว
นายศรีสุวรรณยังกล่าวต่อว่า การดำเนินการตอนนี้คือกำลังรวบรวมหนังสือมอบอำนาจจากชาวบ้านให้สมาคมฯ ดำเนินการฟ้องร้อง โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ที่ร่วมฟ้องน่าจะเป็นร้อยคน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับผังเมืองนี้ เขาต้องการปกป้องพื้นที่ของเขาไว้เพื่อบรรยากาศที่ดี ไม่ให้กลายเป็นเมืองเหมือนกรุงเทพฯ หรือสมุทรปราการ และเมื่อส่งฟ้องแล้วก็คงต้องขออำนาจศาลให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อไม่ให้มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการรีบเร่งไปขอใบอนุญาตก่อสร้าง แม้จะยังคาดหวังไม่ได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ก็มั่นใจข้อกฎหมายว่าเมื่อขั้นตอนกระบวนการมันผิดก็เชื่อว่าศาลจะพิจารณาไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในด้านความคิดเห็นของชาวชุมชนอย่างคุณลุงบรรจง พรพิรานนท์ ที่อาศัยอยู่ใน ต.บางกระสอบ 1 ใน 6 ตำบลของกระเพาะหมู ให้ความเห็นว่า ตามความรู้สึกแล้วอยากจะให้บางกะเจ้าคงสภาพไว้แบบเดิม รู้สึกดีที่ความเจริญเติบโตเข้ามาอย่างช้าๆ บรรยากาศก็ดี อากาศก็ดี ไม่อยากให้มีความแออัดเข้ามามาก แล้วในกระเพาะหมูมันเป็นทางตัน เข้ามาแล้วไปไหนไม่ได้ ต้องออกทางเดิม ถนนก็เล็ก การขยายตัวถ้ามันเพิ่มขึ้นมากมันก็จะลำบากกับคนพื้นที่ที่เคยอยู่ คงจะอึดอัด
แต่ทั้งนี้ ลุงบรรจงกล่าวว่า ไม่ได้ต่อต้านหรือปิดกั้นหากเจ้าของพื้นที่บางคนที่ต้องการขายที่ดิน ก็เห็นใจเหมือนกัน เพียงแต่ใจจริงอยากให้คงสภาพธรรมชาติแบบเดิมไว้จะดีกว่า
ยังไม่มีบทสรุปของเรื่องราวบางกะเจ้าในวันนี้ เพราะกระบวนการในการฟ้องร้องคงต้องดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลานาน ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อตอนจบมาถึง ปอดของกรุงเทพฯ คงไม่ต้องสะเทือนไปมากกว่านี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com