xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนา” ยันนิรโทษฯ ไม่มุ่งช่วย “แม้ว” จะปรองดองได้ต้องย้อนก่อนมี คตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัฒนา เมืองสุข (แฟ้มภาพ)
“วัฒนา” หนุนเปิดเวทีสานเสวนาหาจุดร่วม แต่ต้องเยียวยาก่อนปรองดองถึงจะเกิด อ้างมือเผาบ้านเผาเมืองไม่ผิดอาญา แค่เหตุจูงใจทางการเมือง ไม่มีเจตนาทำร้ายปชช. ยันขีดกรอบนิรโทษเฉพาะคดีการเมือง ด้าน “นิพิฏฐ์” ท้า หากล้มล้าง คตส.ต้องพ่วงลบโทษให้ “สฤษดิ์-ถนอม” ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 เม.ย. นายวัฒนา เมืองสุข รองประธาน กมธ.ปรองดอง กล่าวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญัติว่า รายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ทั้งหมดไม่ได้ตัดทอน เกรงว่าคนที่อ่านรายงานไม่ครบถ้วนไม่ใช่กรรมาธิการฯ หรือสมาชิกทั่วไปจะไม่เข้าใจ เหตุที่ต้องมีกระบวนการปรองดอง เพราะมีความขัดแย้งอันนำไปสู่ความสูญเสียมหาศาลเมื่อปี 2553 ปรองดองทางการเมือง ผู้นำฝ่ายค้านกับตนมีสิทธิ์คิดไม่เหมือนกัน การใช้คำงว่เผด็จการรัฐสภา เผด็จการเสียงข้างมากไม่มี เพราะท่านและตนก็ล้วนใช้เสียงข้างมาก ผู้พิพากษาที่ตัดสินอรรถคดีก็ใช้เสียงข้างมาก รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่พวกท่านยอมรับ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากพวกตน ก็ใช้เสียงข้างมาก การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งคณะกรรมการ คอป.ขึ้นมาก็ใช้คำว่า ต้องยึดหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งลงนามโดยนายกฯ ที่ชื่ออภิสิทธิ์ การแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งโลกล้วนใช้กระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เนื่องจากการกระทำผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ในทางกฎหมายอาญาถือว่าขาดแรงจูงใจทางอาญา เช่น คดีการปิดสนามบินถูกข้อหาก่อการร้าย ถึงเอาไปยิงให้ตายก็บอกว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ซึ่งตนเห็นด้วย

นายวัฒนากล่าวต่อว่า รวมทั้งคดีที่พี่น้องไปเผาศาลากลางจังหวัดที่มีวัตถุประสงค์ไม่ต้องการทำร้ายประชาชนทั่วไป ซึ่งการจะใช้ประมวลกฎหมายอาญากับกรณีอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายอาญาเอาไว้จับโจร แต่ประชาชนที่ไปก่อคดีไม่ได้กระทำเพื่อหวังผลให้เกิดอันตรายต่อประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังรวมถึงคดีที่มีการครอบครองอาวุธสงคราม ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนที่ลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลก็ได้มีการนิรโทษกรรมมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เรื่องของการปรองดองคือการ ให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งรัฐมีสิทธิต้องให้อภัยพลเมืองของรัฐตัวเอง หากรัฐมีส่วนทำให้เกิดปัญหา

“ผมยืนยันว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีการเมือง จะไม่มีการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ยืนว่าไม่มีใครในประเทศนี้หรือในโลกนี้ทำแน่นอน ทั้งนี้ จากผลการศึกษาที่ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานทุกฝ่ายต่างเห็นว่าความขัดแย้งของบ้านเมืองเป็นภัยต่อความมั่นคงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในระดับสูงสุด เราจึงจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองโดยเร็ว ซึ่งหลักการปรองดองคือ การให้อภัยซึ่งกันและกันที่ต้องอยู่บนหลักนิติธรรม ใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง คืนความชอบธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นายวัฒนากล่าว

นายวัฒนากล่าวอีกว่า ข้อเสนอของกมธ.ปรองดองเรื่องการนิรโทษกรรม ไม่ได้หมายความว่า ทำเพื่อช่วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องบริหารด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง ทั้งนี้ กระบวนการปรองดองต้องเป็นไปโดยพื้นฐานของความถูกต้อง เพราะพบว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารมี 2 เรื่องที่นำมาสู่ความขัดแย้ง คือ การยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค กับกระบวนการของ คตส.ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะการจัดตั้ง คตส.ไม่ได้ใช้อำนาจตามหลักประชาธิปไตย แต่เป็นการแต่งตั้งคู่กรณีมาทำหน้าที่จัดการกับคนใดคนหนึ่ง กระบวนการปรองดองจะเดินต่อไม่ได้ ถ้าการเยียวยายังไม่ได้ทำ จึงต้องคืนความถูกต้องก่อน ซึ่งตรงกับหลักนิติธรรม และข้อเสนอของ คอป.ที่บอกให้มีการคืนความถูกต้อง ตนไม่ได้เรียกร้องให้ล้างผิดให้ใคร แต่เรียกร้องให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งการคืนความถูกต้องต้องทำทันที ส่วนกระบวนการสานเสวนาเป็นกระบวนการสุดท้ายของการปรองดอง ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนการเยียวยาเด็ดขาด การเสนอให้เลื่อนการคืนความถูกต้อง ตนไม่เห็นด้วย เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือ การปฏิเสธความยุติธรรม ดังนั้น การนิรโทษกรรมและการคืนความชอบธรรมเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงต้องรีบทำทันที

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อดีตกรรมาธิการ อภิปรายยืนยันว่า ผลการวิจัยของ คอป.ได้ระบุชัดว่า หากจะเริ่มการปรองดองต้องเริ่มจากการค้นหาความจริงก่อน การหาความจริงเพื่อให้สังคมยอมรับข้อเท็จจริง และยอมรับผิด ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการนิรโทษกรรม ไม่มีการปรองดองไหนที่เกิดจากการให้อภัยเลย โดยขาดการค้นหาความจริง การนิรโทษกรรมคือการทำให้สิ่งที่ผิดไม่มีความผิด ดังนั้น ก่อนจะถึงปลายทางนั้นต้องมีการทำตามขั้นตอน ความยุติธรรมไม่เกี่ยวกับเสียงข้างมาก คนจำนวนมากถ้าทำผิดกฎหมายก็ไม่อาจล้มล้างความผิดนั้นได้ เช่น นายกฯ คนหนึ่งได้รับเลือกตั้งมา 20 ล้านเสียง หากมีการทำทุจริต ผู้ที่จะพิจารณาคือผู้พิพากษาตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย ซึ่งมีอยู่ 2-3 คนเท่านั้น จะอ้างว่ามาจากคน 20 ล้านเสียงไม่ได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนายกฯ ที่ถูกยึดทรัพย์เพียง 3 คน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธณะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยสองท่านแรกถูกยึดทรัพย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 หากจะมีการยกเลิกคำสั่ง คตส. ล้มล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วอดีตนายกฯ สองคนที่ถูกคำสั่งของศาล จะมีการนิรโทษกรรมย้อนหลังให้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ หรือจะยกเลิกให้เฉพาะกับ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น

“ถ้าปลายทางเรื่องนี้จะลงเอยด้วยล้มล้าง คตส. แล้วคืนทรัพย์ ยกเลิกความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่ากับยกเลิกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลสูงสุด ผมขอให้พ่วงท้ายจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอมไปด้วย เพราะไม่มีเหตุผลที่จะไม่ยกเลิกความผิดให้กับคนเหล่านี้ เพราะขั้นตอนการยึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ทั้ง 3 นั้นถูกศาลพิพากษาถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ถ้าไม่ทำแสดงว่าเลือกปฏิบัติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น