รองนายกฯ สวมบทพ่อหมอวิเคราะห์ 4 แนวทางปรองดอง เผยทำโดยผ่านสภาโจมตียาก เย้ยรายงาน กมธ.ปรองดองเข้าสภาสุดท้ายเหลว กระต่ายขาเดียวต้องออก พ.ร.บ.ปรองดอง อ้างแม้แต่ “สนธิบัง” ยังเห็นด้วย แต่ขอรอจังหวะเวลา ปัดรอ “ทักษิณ” สั่งการ ปฏิเสธสร้างราคาอ้างตัวเองมีราคาอยู่แล้ว เมินแนวคิดให้ “ทักษิณ” คุยกับ “ป๋าเปรม” อ้างไม่เกี่ยวกัน ใช้แนวทาง 66/23 คนละประเด็น
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางปรองดองว่า ความจริงได้วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่ารัฐบาลคงไม่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งการเสนอกฎหมายจะมี 4 ช่องทาง คือ 1. เสนอโดยรัฐบาล จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 20 คนขึ้นไป 3. เสนอโดยองค์กรอิสระ และ 4. เสนอโดยประชาชนเข้าชื่อกันและไปว่ากันในสภา ซึ่งการทำโดยผ่านสภาจะทำให้มีการโจมตียาก เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องเอาสภาเป็นหลัก และหากให้รัฐบาลเป็นคนทำก็อาจจะถูกมองว่าข่มขู่หรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเงื่อนหรือไม่เพราะคนจ้องหาเรื่องมีเยอะ
ส่วนที่สถาบันพระปกเกล้าที่เสนอผลวิจัยมาแล้วมีข่าวว่าจะถอนออกไป ก็ไม่มีผลอะไรก็เผยแพร่มาแล้ว ซึ่งวันที่ 4 เม.ย.เมื่อมีการนำรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติเข้าสภา ที่ประชุมสภาก็มีมติรับทราบด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งก็แค่ทราบเท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสุดท้ายก็แค่คิดดี ทำดีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ มีทางเดียวต้องทำเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง ต่อให้เจรจาอย่างไรก็ไม่จบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเตรียมความพร้อมไว้ทุกอย่างแล้ว ทำไมจึงยังไม่เสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง รออะไรอยู่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ขอรอจังหวะเวลาอีกนิดหนึ่ง เมื่อถามว่าจังหวะเวลาที่รอคือช่วงไหน เป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน ออกมาสั่งการได้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะตนไม่ได้ทำเพื่อคนหนึ่งคนใด และที่ตนเขียนก็ไม่ได้เอ่ยชื่อตัวบุคคล ไม่เคยเอ่ยถึงเหตุการณ์อะไรเลย แต่เป็นภาพรวมทั้งหมด แต่ขอให้รอเวลาอีกนิด อย่าเพิ่งใจร้อน
เมื่อถามว่าที่ยังไม่เสนอเป็นเพราะว่าเกรงว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเร็ว อำนาจของท่านก็จะไม่มีหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจ และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา จะคิดเล่นการเมืองหรือไม่ก็ยังไม่รู้ใจท่าน ตนไม่มีอำนาจ จะไปกลัวเสียอำนาจได้อย่างไร เมื่อถามว่าจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะเป็นเมื่อไหร่ อีกนานหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ยังไม่ตอบ เก็บไว้ในใจ ส.ส.21 คนที่ส่งชื่อมา การเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง บรรยากาศต้องดีกว่านี้ สังคมต้องตกผลึกทางความคิด มีความเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ยังไม่เสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง เหมือนกับว่าที่ผ่านมาเป็นการสร้างราคาให้แก่ตัวเอง แต่ขณะเดียวกันยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่จำเป็นต้องสร้างราคา เพราะมีราคาอยู่แล้ว แต่ตนยังพูดไม่ได้ เดี๋ยวถูกดุ เมื่อถามว่าเป็นเพราะกลัวแรงกดดันหรือไม่ เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเตรียมจะเคลื่อนไหว รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่แสดงความเห็นที่ไปโต้แย้งกับกลุ่มพันธมิตรฯ สังคมตัดสินแล้วว่ากลุ่มไหน คณะไหนมีราคา หรือไม่มีราคา เมื่อถามว่าต้องการรอให้คดี 91 ศพชัดเจนก่อนหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่บอก เดี๋ยวยุ่ง แต่คดี 91 ศพอยากบอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจะปลอดภัย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62 มาตรา 70 แต่คนสั่งถ้าไม่มีเหตุผลดีพอก็เหนื่อย ต้องรดน้ำมนต์
ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึงประเด็นที่มีการเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คุยกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่าที่ผ่านมาเรายืนยันกันมาตลอดว่าประธานองคมนตรีไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและจะมาจับให้ พ.ต.ท.ทักษิณไปคุยกับท่าน พล.อ.เปรมได้อย่างไร ไม่ถูกต้อง ตนเห็นว่าไม่ว่าใครจะคุยกับใคร ตนว่ามันไม่จบ พราะมันมีการตัดสินคดี มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มีคดีที่ค้างศาลอยู่ ใช้การเจรจาก็ไม่ได้ ที่เสนอใช้ 66/23 ก็คนละประเด็น
เมื่อถามว่าส่วนตัวมั่นใจว่า พ.ร.บ.ปรองดองจะเป็นตัวขับเคลื่อนได้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ก็ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ใครจะปฏิเสธ ขนาด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าปฏิวัติ เขายังบอกเลยว่าที่ทำอยู่ขณะนี้ถูกต้อง และที่ทำปฏิวัติในอดีตนั้นไม่ชอบธรรมโดยเฉพาะการตั้ง คตส. เอาคนที่เป็นศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณมาสอบ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไปอ้างคำพิพากษาของศาลอย่างเดียวไม่คำนึงถึงต้นทางว่ามันผิด เมื่อถามถึงมติ ครม.ที่ให้เลื่อนสมัยประชุมสภาออกไปอีกจนมีการวิจารณ์ว่าเป็นการยืดรอเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าไม่ทราบเพราะเมื่อวานตนลาประชุม ครม. แต่คิดว่าไม่เกี่ยวกัน มันคนละเรื่อง
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิมยังให้สัมภาษณ์ถึงโผตำรวจว่า ไม่ทราบเพราะไม่ได้เข้าไปยุ่งเลย ตนเป็นรองนายกฯ ที่คุมตำรวจคนเดียวที่ตำรวจชอบ เพราะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ระดับนายพล ตนไม่มีหน้าที่อยู่แล้ว ระดับรองผู้การตนไม่เกี่ยวข้อง แต่ใครมาเป็นตนใช้ได้หมด เพราะตนไม่ได้เอาผลประโยชน์