xs
xsm
sm
md
lg

ภรรยา “ร่มเกล้า” งง! ดีเอสไอเปลี่ยนทางคดี “ม็อบแดง” ฆ่าทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บันทึกจากเฟซบุ๊กของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าคดีพลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม
ภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า ”งง ดีเอสไอเคยสรุปสามีเสียชีวิตเพราะ นปช. แต่ล่าสุด “ธาริต” กลับอ้างยังไม่มีหลักฐาน แถมเปลี่ยนกลุ่มผู้ทำผิดจากกลุ่ม นปช.เป็นกลุ่มไม่ใช่ผู้ชุมนุม ชี้เยียวยา-นิรโทษกรรมปรองดองยาก หายังไม่ค้นหาความจริง

วันนี้ (16 มี.ค.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ได้โพสต์บันทึกลงในเฟซบุ๊ก Nicha Hiranburana Thuvatham หัวข้อ “ความคืบหน้าคดี พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม” ระบุว่า “เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ดิฉันและครอบครัวทหารที่เสียชีวิต ต้องไปยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์กองทัพบกช่วยเป็นตัวแทนติดตามความคืบหน้าของคดีพี่ร่มเกล้า และทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 วัน ได้เห็นข่าวคดีการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ว่ามีความคืบหน้า จึงทำให้สงสัยว่า แล้วทำไมคดีสามีเราซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่คืบหน้าเหมือนเขาบ้าง พอดีอาทิตย์ก่อน ได้คุยกับภรรยา-พ่อแม่ของพี่น้องทหารที่เสียชีวิตพร้อมพี่ร่มเกล้า ทุกคนก็รู้สึกสับสนเช่นกัน แต่ด้วยความที่พวกเราไม่มีความรู้เรื่องคดี ครอบครัวทหารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ล้วนทำมาหากินอยู่ต่างจังหวัด ล้วนมีภาระที่ลูกชายหรือสามีผู้จากไปได้ทิ้งไว้ให้ ต้องต่อสู้นำพาชีวิตให้รอดไปวันๆ พวกเราจึงต้องมาขอความอนุเคราะห์กองทัพบกหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งมีศักยภาพมากกว่าเรา ให้ช่วยเป็นผู้แทนในการติดตามคดีแทนพวกเรา

ช่วงปีแรกที่พี่ร่มเกล้าเสียชีวิตนั้น เป็นช่วงที่ต้องต่อสู้กับความทุกข์เสียใจอย่างรุนแรง จึงมอบความไว้วางใจเรื่องคดีความให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ด้วยคิดว่าถ้าตัวเราเองซึ่งเป็นข้าราชการแท้ๆ ยังไม่เชื่อมั่นในระบบ แล้วจะหวังให้พี่น้องประชาชนเขาเชื่อถือได้อย่างไร เราต้องพิสูจน์ โดยตัวเราต้องมีความเชื่อมั่นก่อน ดังนั้น จึงไม่เคยไปติดตามเร่งรัด ตรงกันข้ามพยามยามให้โอกาส ให้เวลา และไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินเชื่อฟังข้อมูลที่ได้รับจากหลายฝักหลายฝ่าย แต่พยายามให้เกียรติในการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ....

วันเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี ..ดิฉันยังเชื่อว่าความยุติธรรมสถิตย์อยู่ ความยุติธรรมนั้นยังเป็นความจริง ความดีงามที่ยังคงมีอยู่ในโลกนี้ หากแต่เริ่มตื่นขึ้นมายอมรับความจริงว่า สภาพแวดล้อมของบ้านเมืองของเราในวันนี้อยู่ในสภาวะไม่ปรกติ มีอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้ความยุติธรรมเดินเข้ามาหาเราเองโดยง่ายไม่ได้ เราจึงต้องเป็นฝ่ายเดินเข้ามาทวงถามหาความยุติธรรม

จากการติดตามข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีหลังจากการเสียชีวิตของพี่ร่มเกล้า ดิฉันก็จะทราบเรื่องราว เท่าๆ กับที่ผองเพื่อนพี่น้องทราบ ต้องขอบคุณบทบาทสื่อมวลชน มิเช่นนั้นดิฉันก็คงไม่ทราบอะไรเลย และในยามที่ข่าวคราวสับสนก็ไม่รู้จะไปติดตามถามจากใคร เหมือนเช่นในขณะนี้ ซึ่งความคืบหน้าของคดีเป็นไปในทิศทางที่ดิฉันไม่อาจเข้าใจได้ จึงขอทบทวนความจำให้กับพี่น้องที่ส่งกำลังใจมาให้เสมอ รวมทั้งทบทวนความจำแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งอาจลืมเรื่องราวในอดีต) ได้ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับคดีพี่ร่มเกล้า ดังนี้ค่ะ

วันที่ 10 เมษายน 2553 พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงข่าวว่าได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุถึง 8 คดี เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้าและเจ้าหน้าที่ทหาร เสียชีวิต นอกจากนี้ยังใช้อาวุธสงครามยิง M79 ใส่รถไฟฟ้า BTS ที่แยกศาลาแดง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 75 ราย ยิงอาร์พีจีใส่โรงแรมดุสิตธานี ยิง M79 ใส่แฟลตตำรวจลุมพินี ยิง M16 ใส่ตำรวจที่ตั้งด่านหน้าธนาคารกรุงไทยจนตำรวจเสียชีวิต และยิง M79 ใส่ด่านตรวจอาคารอื้อจือเหลียงเป็นเหตุให้ตำรวจบาดเจ็บและเสียชีวิต DSI แถลงอย่างภาคภูมิใจด้วยว่า ได้ร่วมกับหน่วยอรินทราช ใช้เทคโนโลยีพิเศษดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่จับแพะแน่นอน

วันที่ 20 มกราคม 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี DSI ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและประชาชน 89 ศพ แถลงความคืบหน้าคดีว่า ได้สอบสวนเบื้องต้นมีข้อสรุปที่สามารถสรุปได้ 3 ส่วน คือ

กลุ่มที่ 1 คดีพิเศษที่มีผู้เสียชีวิต จากการสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตขอ ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ทหาร ตำรวจและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

กลุ่มที่ 2 มีผู้เสียชีวิต จากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าความตายอาจเกิดโดยเจ้าหน้าที่ 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย ดีเอสไอ เห็นว่า ควรดำเนินการตาม ป.วิอาญามาตรา 150 จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุแล้ว เช่น คดีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในวัดปทุมวนาราม ผู้เสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต การเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ บริเวณอนุสรณ์สถานดอนเมือง และคดีนักข่าวญี่ปุ่น

กลุ่มที่ 3 เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดจำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลีขอความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่

นายธาริตเปิดเผยว่า จะพยายามแถลงข้อมูลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ แต่เนื่องจากการเสียชีวิตของคนเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการจลาจล เผาสถานที่สำคัญ เป็นเหตุสับสนวุ่นวายวิกฤติ การแสวงหาพยานหลักฐานจึงมีข้อจำกัด อีกทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะทหารที่เข้าปฏิบัติการกระชับและขอคืนพื้นที่ เพื่อแก้ไขสถานการณ์นำความสงบสู่สังคมประเทศชาติโดยเร็ว การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินย่อมเกิดขึ้นได้ ฝ่ายทหาร ตำรวจเองก็เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนการเสียชีวิตของฝ่าย นปช.ต้องสอบสวนเป็นรายๆ กรณีไป หากฝ่ายทหารได้กระทำไปด้วยความจำเป็นป้องกันเพื่อระงับเหตุร้ายวิกฤติดังกล่าว ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับผิด ซึ่งศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดสุดท้ายขณะนี้ไม่ควรด่วนตัดสินความถูกผิด

“ผมขอเปรียบเทียบว่า หากบ้านเมืองถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดับไฟ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ถูกเพลิงไหม้เป็นจุณ ก็เช่นเดียวกับเหตุการณ์โจรเผาบ้านเผาเมืองปล้นสะดมอย่างวิกฤตในครั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ทหารไม่เข้าไประงับเหตุก็จะเกิดมิคสัญญีเลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้น ฝ่ายทหารควรได้รับความเป็นธรรมด้วยไม่ใช่ถูกฝ่าย นปช.ใส่ร้ายว่าฆ่าประชาชนอยู่ตลอดเวลา” นายธาริตกล่าว (จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2555)

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่เผยแพร่ทั่วไประบุว่า ผู้ต้องหา 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุและการเสียชีวิตของพี่ร่มเกล้า ได้รับการประกันตัว และปล่อยตัวชั่วคราวไป

วันที่ 13 มกราคม 2555 - ดิฉันได้รับโทรสารเอกสารสรุปข้อเท็จจริงคดีพิเศษที่ 61/2553 กรณีการเสียชีวิตของพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก) โดยปรากฏข้อความสั้นๆ เพียงว่า คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้

ล่าสุด เมื่อคืนนี้ 15 มีนาคม 2555 ขณะดิฉันนั่งเครื่องบินกลับจากราชการภาคใต้ บังเอิญอ่านพบในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า “DSI รับไม่คืบชุดดำยิงร่มเกล้า ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานชี้ชัดถึงตัวผู้กระทำผิดหรือดำเนินคดีทางกฎหมายได้ นายธาริตยังกล่าวว่า DSI ได้จัดให้การเสียชีวิต ของพลเอก ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มของการเสียชีวิตที่นาเชื่อว่ามาจากการกระทำของผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม คือ กลุ่มชายชุดดำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

เพื่อนพี่น้องที่รักทุกท่าน สรุปสั้นๆ ก็คือว่า ปี 2553 จับคนร้ายได้และต่อมามีการประกันตัวไป ต้นปี 2554 DSI สรุปว่าคดีพี่ร่มเกล้าอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ เสียชีวิตจากการกระทำของ นปช. แต่พอถึงต้นปี 2555 DSI กลับบอกว่ายังไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้ แค่นี้ดิฉันก็งงจะแย่แล้ว พอเห็นข่าวเมื่อคืนยิ่งเศร้าใจ มีการเปลี่ยนตัวผู้กระทำผิดว่าไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมแต่เป็นชายชุดดำไปแล้ว ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการจัดกลุ่มตั้งแต่เมื่อไหร่คะ ทำไมทิศทางคดีจึงเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ อยากให้ DSI และท่านผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวนอ่านสิ่งที่เคยแถลงไว้เองเมื่อ 20 มกราคม 2554 แล้วช่วยอธิบายแก่สังคมด้วยค่ะ


จะต้องพูดอีกกี่ครั้ง ดิฉันก็จะพูดว่า การเยียวยาและการนิรโทษกรรม มิอาจนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติได้ แต่ต้องเดินไปควบคู่กับการค้นหาข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม.”
กำลังโหลดความคิดเห็น