xs
xsm
sm
md
lg

ลับ!"ตายในเขาดิน"1 ใน 16 สำนวนใบสั่ง"ทหารฆ่าประชาชน"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สำนวนคดีชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมชุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ถือเป็น"ปมประเด็นคดีร้อน"ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากปี 2554 และค้างมาสู่ปี 2555 ปีที่ทั้งหมอดู และ ผู้สันทัดกรณีทางการเมือง ต่างฟันธงตรงกันว่า ยังคงเป็นปีที่การเมืองร้อนแรงอีกปีหนึ่ง

ความคืบหน้าล่าสุด สำนวนคดีไปถึงไหน 18 ม.ค.55 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาแล้ว 5 สำนวน โดยได้ส่งต่อให้พนักงานกองคดีอาญาต่างๆรับไปพิจารณาตามเขต สน.ที่เกิดเหตุ และไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ

สำหรับเหตุที่การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า ท่านอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ให้ความเห็นว่า เนื่องจากในบางสำนวนมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวเนื่องกับสำนวนอื่นที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ทำให้ต้องรอพิจารณาไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอไต่สวนชันสูตรศพได้ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และต้องขอขยายเวลายื่นคำร้องออกไปแล้ว 1 ครั้งเป็นเวลา 30 วัน อย่างไรก็ดีหากการพิจารณาสำนวนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็สามารถขอขยายเวลาออกไปได้อีกสองครั้ง ครั้งละ 30 วัน ทำให้อัยการยังมีเวลาพิจารณาสำนวนคดีได้จนสิ้นถึงเดือนมีนาคมนี้

ดังนั้น จากคำทำนายของคอการเมืองหลายต่อหลายคน ที่คาดคะเนกันว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤศภาคม-มิถุนายน 55 อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง ส่วนจะเกิดเป็นจริงหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆเป็นตัวกำหนด

แต่ ณ เวลาขณะนี้ สำหรับสำนวนชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดง ถือเป็นสิ่งที่ได้บังเกิดขึ้นจริง ตามใบสั่งทางการเมืองของฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่ต้องการล่ามโซ่(บ่วงคดี)กับผู้มีอำนาจในอดีต โดยมีเหล่าทหารหาญผู้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในเวลานั้น ต้องกลับกลายมาเป็นจำเลยร่วมในอนาคตอันใกล้ ภายใต้โจทย์ ..ไปต่อสู้คดีในชั้นศาล

ดังนั้น เพื่อความกระจ่างชัด จึงขอนำเสนอ หนังตัวอย่าง ที่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งใน สำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ 1/2553(สน.ดุสิต) ระหว่าง นายมาโนช อาจราญ อายุ 50 ปี ผู้กล่าวหา นายมานะ อาจราญ อายุ 24 ปี ผู้ตาย โดยข้อกล่าวหาที่ขอไต่สวน คือ ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฎิบัติราชการตามหน้าที่ เสนอ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา

คดีนี้กล่าวหาว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุนายมานะ อาจราญ ผู้ตาย ซึ่งเป็นพนักงานของสวนสัตว์ดุสิตอยู่ระหว่างปฎิบัติงานดูแลสวนสัตว์ดุสิต ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ ถึงแก่ความตาย

เหตุเกิดที่บริเวณทางเดินหน้าบ่อเต่า ภายในสวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 23.00 น.เศษ

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต กับแพทย์ รวม 2 ฝ่าย ได้ร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตายแล้ว สอบสวนเสร็จสิ้นมีความเห็นว่าผู้ตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฏวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 (2) และเป็นผลแห่งการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 129,150 วรรคหนึ่ง แก้ไข้เพิ่มเติมโดย มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2542 ส่งสำนวนชัยสูตรพลิกศพไปยังพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เพื่อรวมเข้ากับสำนวนคดีอาญา

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพกลับมาตามหนังสือที่ ยธ 0800/3740 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เพื่อให้ดำเนินการตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสี่ โดยอ้างว่าการเสียชีวิตของผู้ตาย มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ(ทหาร)อาจเกี่ยวข้องด้วยและเพียงพอที่จะอ้างหรือเชื่อได้ว่าเป็นกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม

คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่ 376/2553 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 โดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการอำนวยการสอบสวนสำนวนชันสูติพลิกศพ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 622/2553 และคำสั่งที่ 652/2553 ได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมแล้วมีความเห็นว่าการตายของผู้ตาย ยังไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ประกอบกับยังไม่มีเจ้าพนักงานคนใดมากล่าวอ้างว่าการปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงส่งสำนวนคดีชันสูติพลิกศพกลับไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือลงวันที่ 31 มีนาคม 2554

ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2554 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนคดีชันสูติพลิกศพนี้กลับมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาลอีกครั้ง เพื่อให้พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพดำเนินการตามกฏหมาย โดยอ้างว่าเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานพอสมควรว่า มีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม แล้ว

กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งที่ 387/2554 ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 และคำสั่งที่ 396/2554 ลงวันที่ 27 กันยายน 2554 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคหนึ่ง นั้น คดีนี้ไม่สามารถดำเนินการชันสูติพลิกศพ 4 ฝ่ายตามมาตรา 150 วรรคสาม ได้อีก เนื่องจากหลังเกิดเหตุได้มีการเผาศพผู้ตายไปแล้ว คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เริ่มทำการสอบสวนคดีนี้ ร่วมกับพนักงานอัยการ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสี่

สำนวนคดีนี้ ได้มีการสอบปากคำพยานบุคคลรวม 29 ปาก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นคนเสื้อแดง โดยมี ตำรวจ(มะเขือเทศ) และทหาร(แตงโม)ร่วมให้ปากคำ ในลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนกับเป็นการตั้งโจทก์ คำให้การไว้ตั้งแต่ต้น โดยพยานทุกปากให้การเหมือนกันคือ"...พยานไม่ได้เห็นบุคคลภายนอก ผู้ชุมนุม หรือ ชายชุดดำอยู่ภายในบริเวณสวนสัตว์แต่อย่างใด..."

หลังได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว สำนวนคดีนี้ ได้สรุปผลการสอบสวนได้ความดังนี้

คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุ ศูนย์อำนวยการแก้ไข้สถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารจากกองบัญชาการต่างๆปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเปิดเส้นทางจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้า แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง จนมีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธปืน วัตถุระเบิด แก๊สน้ำตา เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์ได้ต่อเนื่องกันมาถึงช่วงเวลาเกิดเหตุ ขณะที่กำลังทหารได้ถูกส่งมารักษาความสงบบริเวณถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา และประตูทางเข้า-ออกสวนสัตว์ดุสิต กำลังทหารบางส่วนได้เข้าไปพักผ่อนบริเวณลานจอดรถและพื้นที่ในสวนสัตว์ โดยพาอาวุธปืนเอ็ม16 ติดตัวจำนวนมาก ปรากฏว่าได้มีรถยนต์กระบะสีเข้ม ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน ขับผ่านไปกลับบนถนนอู่ทองใน แล้วชะลอบริเวณหน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณดังกล่าวจึงได้ร้องตะโกนว่า "มันมาแล้วๆ" และแตกตื่นวิ่งเข้าไปในสวนสัตว์ หาสถานที่หลบซ่อน โดยเจ้าหน้าที่ทหารบางนายวิ่งกระโดดลงในสระน้ำ และหมอบอยู่ที่พื้นทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ สักครู่เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บริเวณประตูทางเข้าสวนสัตว์ด้านตรงข้ามรัฐสภา ได้ยิงอวุธปืนยาว(ปืนเอ็ม16)จำนวนหลายนัด ในลักษณะยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางด้านรัฐสภา และมีเสียงปืนดังไปทั่วบริเวณสวนสัตว์ ระบุทิศทางไม่ได้ว่าดังมาจากที่ใดบ้างเนื่องจากมีเสียงสะท้อน ขณะนั้นมีทหารประมาณ 30 นาย นอนหมอบอยู่บนถนนอู่ทองใน ทุกคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 และเล็งปืนไปทางรัฐสภา ตะโกนสั่งให้คนที่อยู่ในรัฐสภาออกมา นายวินัย รุ่งประสาท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภากับพวกจึงเดินออกมา ทหารได้ขอเข้าไปตรวจสอบในรัฐสภา โดยมีพันตำรวจโทสำเริง ส่งเสียง รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ร่วมตรวจสอบด้วย ปรากฏว่าไม่พบคนร้ายและร่องรอยการยิงอาวุธปืนในรัฐสภาแต่อย่างใด ในช่วงเวลาระหว่างเกิดเหตุนั้นผู้ตาย ซึ่งเข้าเวรดูแลสัตว์อยู่ในบ่อเต่าที่อยู่ติดกับกรงเก้งหม้อ ออกมาจากบ่อเต่าเพื่อจะขับรถจักรยานที่จอดไว้ไปตอกบัตรออกเวร เมื่อออกมาได้ประมาณ 2 นาที ขณะยืนอยู่หน้ากรงเก้งหม้อ ได้ถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ ทันทีทันใดนั้น นายบุญมี แก้วไทรท้วม พยานที่เข้าเวรอยู่ในบ่อเต่ากับผู้ตาย ได้ออกมาดูพบผู้ตายนอนคว่ำเสียชีวิตอยู่ที่พื้นทางเดินหน้ากรงเก้งหม้อ และพบเจ้าหน้าที่ทหาร 15-20 คน หมอบอยู่บนพื้นห่างจากศพผู้ตายประมาณ 25 เมตร ตะโกนสั่งนายบุญมี ให้ถอยกลับไป นายบุญมี จึงวิ่งกลับไปหาที่กำบังบริเวณใกล้ศพผู้ตาย สักครู่จึงปีนกลับเข้าไปซ่อนตัวในบ่อเต่าแล้วโทรศัพท์แจ้งเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมาพนักงานสอบสวนและแพทย์ได้มาชันสูตรพลิกศพผู้ตายและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานมาร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) จำนวน 2 ปลอกตกอยู่บริเวณจุดที่เจ้าหน้าที่ทหารหมอบอยู่ พบโล่ปราบจราจล จำนวน 2 อัน, กระบองปราบจราจล จำนวน 3 อัน และเสื้อลายพราง ระบุชื่อ "บารมี ชีพไธสง"จำนวน 1 ตัว

จากการสอบสวนผู้กล่าวหายืนยันว่า ผู้ตายคือ นายมานะ อาจราญ อายุ 24 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 449/2 ซอยองครักษ์ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นลูกจ้างรายวันของสวนสัตว์ดุสิต ตามวันเวลาเกิดเหตุขณะที่ผู้ตายเข้าเวรดูแลสัตว์ที่บ่อเต่า ภายในสวนสัตว์ได้ถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะด้านหลังทะลุหน้าผากส่วนบน ถึงแก่ความตายทันที

มาถึงสาระสำคัญบทสรุป"ผู้ตายถูกใครทำให้ตาย"

ท้ายสำนวนสรุปว่า ระหว่างเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ปิดทางทหาร มีเพียงกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตเท่านั้นที่อยู่ในบริเวณเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกาย เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน สอบสวนพยาน 13 ปาก ให้การสอดคล้องกันว่าไม่มีชายชุดดำหรือบุคคลภายนอกอยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุหรือผ่านเข้าออกได้อย่างเด็ดขาด สอบสวนแพทย์ผู้ตรวจศพ ยืนยันว่า บาดแผลที่ศีรษะผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูง โดยสอบสวนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืนยืนยันว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนความเร็วสูงที่ใช้กระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) เหตุการณ์จึงเป็นไปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยได้มีรถยนต์กระบะต้องสงสัย ขับผ่านไปกลับที่ถนนอู่ทองในบริเวณหน้าประตูทางเข้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้น เจ้าใจว่าเป็นรถของกลุ่มผู้ชุมนุม คนร้ายหรือชายชุดดำที่จะมาทำร้าย เจ้าหน้าที่ทหารจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปในสวนสัตว์ดุสิต และเตรียมการป้องกันพร้อมตอบโต้คนร้าย เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้ตาย ซึ่งแต่งกายด้วยชุดสีเข้ม กำลังเดินออกจากบ่อเต่ามาทางกรงเก้งหม้อ ทั้งบริเวณเกิดเหตุค่อนข้างมืด มองเห็นไม่ชัด น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ที่นอนหมอบอยู่บริเวณปากทางเข้ากรงเก้งหม้อ เข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนร้ายหรือชายชุดดำ จึงใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเห็นว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด

สำหรับประเด็นการตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฎิบัติราชการตามหน้าที่ หรือ ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฎิบัติราชการตามหน้าที่ ตาม ป.วิอาญา ม.150 วรรคสาม หรือไม่ นั้น ท้ายสำนวนได้ยกคำให้การของพยานที่ส่วนใหญ่ เป็น ตำรวจมะเขือเทศ และทหารแตงโม มายืนยันว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังมาปฎิบัติหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง โดยได้เข้ามาพักอยู่บริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นจุดรวมพล มาใช้ประกอบในการไต่สวนสั่งคดีของศาล

การเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีการพูดกันว่า สำนวนคดีนี้ เป็นต้นแบบ หรือ รูปแบบ ของสำนวนคดีอื่นๆที่เหลืออีก 15 สำนวน และสำนวนนี้ ถือว่า อ่อนกว่าสำนวนอื่นๆ ดั้งนั้น หากอัยการส่งไปยังศาล จากพยานหลักฐานทั้ง พยานบุคคล พยานวัตถุและพยานเอกสาร ที่จัดทำโดยพนักงานสอบสวน ภายใต้การเขียนบทและกำกับดูแลโดยอดีตสารวัตรกองปราบ"เฉลิม อยู่บำรุง"ก็จะเป็นการอยากที่จะ ทำให้ศาลมีดุลพินิจสั่งเป็นอย่างอื่นเสียมิได้ นอกเสียจาก สั่งตามที่พนักงานสอบสวนและอัยการเสนอ คือ"ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฎิบัติราชการตามหน้าที่"ตามข้อกล่าวหาที่ตั้งไว้แต่ต้น

ดังนั้น เมื่อทหารหาญ ผู้ปฎิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีกฎหมายรองรับในการปฎิบัติการในครั้งนั้น พวกเขาเหล่านั้น ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งหากไปนับผู้ปฎิบัติหน้าที่ในสำนวนอีก 15 คดี แน่นอน ทหารจำนวนหลายนาย ต้องถูกดำเนินคดี และการถูกดำเนินคดี หากหยุดอยู่แค่การทำสำนวน สอบสวน แจ้งข้อหา ส่งอัยการฟ้องศาล คงไม่เป็นไร

แต่ผลของทหารถูกดำเนินคดีฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตามแบบฉบับของกองกำลังคนเสื้อแดง แน่นอน คนเสื้อแดงจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น และหากพวกเขา รวมทั้งคนในรัฐบาล นำไปปลุกระดม คนเสื้อแดงทั้งประเทศ เพื่อต้องการให้เกลียดชังทหารมากขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้น หรือว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดโดยเฉพาะ"พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา"ผบ.ทบ.จะเมินเฉย เพราะหากรอไปสู้คดีในศาล ท่านอาจจะสายเกินไป เพราะนั่น หมายความว่า ท่านสู้คดีในฐานะจำเลยสั่งฆ่าประชาชน ไม่ใช่ สู้ในฐานะผู้บริสุทธิ์







กำลังโหลดความคิดเห็น