xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ก๊กแดง”ตีปี๊บคดี 13 ศพ บี้เอาผิด “มาร์ค-เทือก” แช่แข็ง“นปช.ฆ่า 12 ศพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์จลาจลเผาเมืองโดยคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมยังคงสร้างความทุกข์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศต่อเนื่อง แต่ฟากฝั่งคนเสื้อแดงบริวารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูจะเคลื่อนไหวกันคึกคักเป็นพิเศษ

นอกจากจะมีการประชุม ครม.ลับ เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศได้รับประโยชน์ด้วยแล้ว แกนนำคนเสื้อแดงยังอาศัยโอกาสที่นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางมาประเทศไทย ยัดข้อมูลการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ใส่มือ เพื่อประโคมข่าวความผิดของทหารและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเวทีระดับโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีความคืบหน้าการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิต 13 คน ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)มีข้อสรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งกลับมาให้ บช.น.ทำการสอบสวนต่อ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย.54 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างการชุมนุมก่อจลาจลของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

นอกจาก พ.อ.สรรเสริญแล้ว ยังมี พ.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ เสธ.ร.2 รอ. ผู้นำกำลังไปขอคืนพื้นที่ และ ส.อ.มณี พรหมนอก สังกัด ร.2 พัน.3 รอ. โดย พ.อ.สรรเสริญ ให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบอกว่าภารกิจของทหารจะดูแลเรื่องความมั่นคงของชาติ ปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน ปกติทหารไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภายในเขตเมือง หรือในเขต กทม. แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทหารต้องเข้ามาเกี่ยว ตามคำสั่งของ ศอฉ. ซึ่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น และมีนายสุเทพ รองนายกฯ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ

พ.อ.สรรเสริญได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ข้อมูลที่ให้ปากคำต่อตำรวจนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติภารกิจทั้งหมด โดยพนักงานสอบสวนสอบถามถึงภารกิจของหน่วยงานทหารว่าแนวทางการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร รับคำสั่งอย่างไร มีการวางแผนการปฏิบัติอย่างไร และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เคยชี้แจงสังคมไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ปรากฏออกมาจากสื่อที่ถือหางเสื้อแดง พยายามจะบอกต่อสาธารณะว่า พ.อ.สรรเสริญได้ให้การมัดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าเป็นคนออกคำสั่งให้ทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม จนนำไปสู่การเสียชีวิต โดยพยายามเน้นย้ำว่า การออกมาปราบปรามการชุมนุมไม่ใช่ภาระกิจหลักของทหาร แต่ต้องออกมาตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนว่า การออกคำสั่งของนายกฯ นั้น เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช.เปิดแถลงข่าวที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว รังใหญ่ของคนเสื้อแดง ชื่นชม พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ว่ากล้ายอมรับผิด สารภาพว่าได้รับคำสั่งจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ไปจัดการกับผู้ชุมนุม จึงอยากให้ทหารคนอื่นๆ เอาอย่างพันเอกสรรเสริญ ทั้งนี้ ตนเชื่อคำพูดของ พ.อ.สรรเสริญ เพราะตรงกับหลักฐานที่มีอยู่

ส่วนนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. บอกว่า มีขบวนการโค่นล้มรัฐบาลโดยการยกเอาปัญหาน้ำท่วมมาเป็นข้ออ้าง เพราะฉะนั้น หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย จะนัดชุมนุมใหญ่ เริ่มที่ จ.ขอนแก่นเพื่อแสดงพลังให้รู้ว่าคนเสื้อแดงยังอยู่

หากติดตามข่าวจากคนเสื้อแดงหรือสื่อที่ถือหางคนเสื้อแดงฝ่ายเดียว ณ เวลานี้ก็คงฟันธงได้แล้วว่า การเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้น เป็นเพราะคำสั่งปราบปรามของรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมนั้น มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงจากฝ่าย นปช.ก่อน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 ทั้งการเทเลือดใส่ทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การเอามวลชนไปขับไล่ทหารที่ออกมารักษาความสงบตามจุดต่างๆ ให้กลับเข้ากรมกอง การย้ายไปชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ การบุกเข้าไปในบริเวณรัฐสภา การบุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคม ซึ่งในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเริ่มปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ด้วยการไม่ใช้อาวุธก่อน จนกระทั่งนายทหารถูกชายชุดดำที่แฝงอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงยิงเสียชีวิตหลายนาย เมื่อวันที่ 10 เมษายน จึงให้มีการใช้กระสุนจริงในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ในสำนวนการสอบสวนคดีการเสียชีวิต 91ศพ ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงออกมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 นั้น นอกจาก 13 ศพที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีคดีที่น่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของ นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม ทหาร ตำรวจ และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็ลทรัลเวิลด์

          และยังมีกลุ่มที่ 3 เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลี เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบความคืบหน้าของคดีทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ปรากฏว่า คดี 13 ศพ ที่เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับคืบหน้ามากกว่าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้เข้ามาจัดการเอง โดยสั่งการให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ.ถอนคดี 13 ศพ ออกจากการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ พร้อมสั่งให้ ดีเอสไอ.ส่งสำนวนกลับไปให้ทาง บช.น. ดำเนินการตามขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ เพื่อสรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องต่อศาล

ขณะที่ แกนนำคนเสื้อแดงต่างออกมาสำทับอยู่เนืองๆ ว่า คดีนี้ ความผิดจะต้องเชื่อมโยงไปทุกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพแน่นอน ส่วน ร.ต.อ.เฉลิมก็เข้าไปเร่งรัดการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 30 ก.ย.54 ได้ไปนั่งหัวโต๊ะประชุมเร่งรัดคดี 13 ศพ ที่นครบาลด้วยตัวเอง โดยอ้างว่าไปให้กำลังใจเจ้าพนักงาน แต่เป้าหมายจริงๆ ก็คือจะเอาผิดแกนนำรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองให้ได้

อย่างไรก็ตาม หากนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมีความกล้าหาญมากพอที่จะปกป้องการกระทำของเจ้าหน้าที่ในช่วงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยขอรับผิดชอบเองทั้งหมดในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ.ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ต้องให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ซึ่งทำตามคำสั่งของรัฐบาลและเพื่อความสงบของบ้านเมือง คดี 13 ศพนี้ ก็จะไม่สามารถตามมาหลอกหลอนทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น