xs
xsm
sm
md
lg

ภรรยา “ร่มเกล้า” ค้าน คอป.เร่งเยียวยาม็อบ ชี้ต้องพิสูจน์ความจริงก่อน-แยกแยะพวกโหดร้ายเผาเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บันทึกในเฟซบุ๊กของ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ตั้งคำถามถึงการจ่ายเงินเยียวยาม็อบเสื้อแดง
ภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า” เขียนบันทึกลงเฟซบุ๊ก ค้านมาตรการเยียวยา “ม็อบแดง” ของ คอป.ชี้ข้ามขั้นตอน เร่งจ่ายเงินก่อน โดยยังไม่ผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริง แถมไม่แยกแยะคนผิดคนถูก ซ้ำยังเอาใจ “นักโทษการเมือง” ทั้งที่มีกมลสันดานโหดร้าย นำอาวุธสงครามทำร้ายเจ้าหน้าที่-ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เผาบ้านเผาเมือง ยิงวัดพระแก้ว เผยคดีสามีถูกยิงไม่คืบ ยธ.อ้างไม่มีพยานหลักฐาน ทั้งที่ดีเอสไอเคยสรุปเป็นฝีมือ นปช.

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) นายทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้เขียนบันทึกในเฟซบุ๊ก Nicha Hiranburana Thuvatham เรื่อง คำถามเรื่องการปรองดองเยียวยา โดยมีเนื้อหาในรายละเอียดดังนี้

“เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ ดิฉันได้รับเชิญจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อแสดงความเห็นเรื่องความปรองดองในกระแสพลวัตทางสังคมและการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๕ จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดอง ซึ่งมี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานอนุกรรมการ วัตถุประสงค์เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นอันนำไปสู่การแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดความปรองดองร่วมกันอย่างเป็นระบบ และนำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการยับยั้งไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นใหม่หรือขยายตัว

ในการประชุมครั้งนี้ ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป.ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย ดิฉันจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบประธาน คอป.ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้พบมาก่อน เพื่อจะได้สอบถาม ไขข้อข้องใจต่างๆ ที่สงสัยแต่ไม่ทราบจะไปถามใคร ซึ่งอยากสรุปประเด็นที่ได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นในการประชุมดังกล่าว ขยายความจากที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ดังนี้

๑) เนื่องจากเป้าหมายของ คอป.และรัฐบาลต้องการให้แนวทางเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย จึงได้ถามว่า คอป.มองว่า “คู่กรณีแห่งความขัดแย้ง” คือใครบ้าง คำว่า “ฝ่าย” หมายถึงฝ่ายใดบ้าง และ คอป.หรือ รัฐบาลจะมีกระบวนการให้ “แต่ละฝาย”แสดงการยอมรับหรือไม่ยอมรับในมาตรการต่างๆ ที่ออกมาได้อย่างไร เพราะสภาพความขัดแย้งในปัจจุบันมิได้มีฝ่ายชัดเจน เหมือนครั้งฝ่ายเหลือง-แดงในอดีต หากแต่ความขัดแย้งของสังคมไทยได้ขยายตัวในวงกว้าง ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์จำนวนมาก ยังมีการรวมตัวของกลุ่มคนอีกหลากหลายในสังคม เช่น สีชมพู เสื้อหลากสี facebook ฯลฯ ยังมีฝ่ายรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ฝ่ายทหาร นักธุรกิจและชาวกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงประชาชนเจ้าของประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของภาษีเงินได้ที่รัฐนำมาใช้เยียวยา เขาเหล่านี้มีโอกาสและช่องทางแสดงความเห็นหรือการยอมรับให้รัฐบาลและ คอป.รับฟังได้อย่างไรบ้าง

๒)ในแง่ขั้นตอนกระบวนการ ดิฉันเห็นว่าควรต้องเริ่มจาก (๑) การค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ จากนั้นนำเข้าสู่ (๒) กระบวนการยุติธรรม เมื่อหาตัวคนถูก-คนผิดได้แล้ว จึงนำไปสู่ (๓)กระบวนการเยียวยา กล่าวคือ เยียวยาผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการกับคนผิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสังคมว่าจะให้อภัย/ยกโทษให้คนผิดที่สำนึกได้เพื่อความปรองดอง หรือ จะลงโทษคนผิดที่ไม่สำนึกให้หลาบจำ แต่เนื่องจากรัฐบาลและ คอป.เริ่มเปิดฉากด้วยการเยียวยาเป็นเรื่องแรก โดยข้ามผ่านอีก ๒ กระบวนการ และมติ ครม. เรื่องการเยียวยาก็ไม่ได้มีคำอธิบายในเชิงเหตุผลใดๆ ประกอบมาตรการให้สังคมเข้าใจ จึงทำให้การเยียวยากลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และขยายตัวลุกลามไปยังประเด็นอื่นๆ ในอดีต

ที่สำคัญขั้นตอนการค้นหาข้อเท็จจริง และการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีความคืบหน้า เสมือนว่าไม่ได้รับความสำคัญ ดิฉันได้ยกตัวอย่างกรณีคดีของพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม สามี ว่าเวลาผ่านไปเกือบ ๒ ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าอย่างใด จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้เรียนถามความคืบหน้าคดี ซึ่งวันต่อมาท่านก็กรุณาให้เจ้าหน้าที่ส่งสรุปสำนวนคดีมาให้ปรากฎความคืบหน้าคดีเพียงสั้นๆ ๑ บรรทัดว่า “ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้” แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ได้เคยแถลงผลการสอบสวนคดีของพี่ร่มเกล้าว่า มีพยาน หลักฐานว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. จากนั้น ก็มีการจับตัวผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและใช้อาวุธสงครามเกี่ยวพันกับคดีพี่ร่มเกล้าและคดีอื่นอีก ๘ คดีได้ ซึ่งต่อมาก็มีการให้ประกันตัวไป สรุปสำนวนคดีในวันนี้ทำไมจึงแตกต่างจากในวันก่อน? แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?

ดิฉันตระหนักว่าการหาตัวผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยควรมีการแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้ความมั่นใจว่าคดีของพวกเราไม่ได้ถูกละทิ้ง เพิกเฉยหรือมีการเปลี่ยนแปลงหลักฐานพยานใดๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

๓ สำหรับความเห็นเรื่องมาตรการเยียวยา ดิฉันได้ตั้งคำถามแก่เวทีเสวนา คอป. ๓ เรื่อง คำถามแรก คือ ตามหลักการสากล ใครคือผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยา? ผู้กระทำความผิดมีสิทธิได้รับการเยียวยา ด้วยหรือไม่?(ในเงื่อนไขการเยียวยาของกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ก็ระบุว่าต้องมีการพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด) ซึ่งคำตอบของ คอป. จากเวทีเสวนาครั้งนี้ คือ “ต้องไม่ใช่ผู้กระทำความผิด” แต่เงื่อนไขนี้ คอป.ไม่ได้ระบุไว้ในรายงานที่เสนอต่อรัฐบาล

คำถามที่ ๒ คือ เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก คนเหล่านี้มาด้วยเจตนาที่แตกต่างกัน แบ่งประเภทได้ดังนี้ (๑) กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยซึ่งมาปฏิบัติตามหน้าที่ (๒) ประชาชนผู้บริสุทธิ์ (๓) กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และ (๔) กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่ใช้ความรุนแรง คำถามคือ มาตรการต่อคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ๔ กลุ่มนี้ ควรอยู่บนหลักการหรือคำอธิบายเหตุผลในการชดเชยเยียวยาเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง?

คำถามที่ ๓ คือ ขอทราบคำจำกัดความคำว่า “นักโทษคดีการเมือง” ตามที่ คอป.เขียนในรายงาน (ข้อ ๕.๓.๓) ว่า “ผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรือาชญากรดังเช่นคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง” ดังนั้น คอป.จึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวหรือควบคุมตัวในสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งมิใช่เรือนจำปกติอันเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลยทั่วไป ในประเด็นนี้ ดิฉันสงสัยว่า เนื่องจากเหตุการณ์การเมืองครั้งนี้มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น คือ มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ดังนั้น นักโทษคดีการเมืองในกรณีนี้จึงต่างจากผู้ต้องหาหรืออาชญากรในคดีอาญาตามปกติอย่างไร

๔ ประเด็นสุดท้าย ดิฉันไม่เห็นด้วยกับปรัชญาการลงโทษที่ปรากฏในรายงาน (คอป.) หน้า 12 ว่า “...การกระทำความผิดมีมูลฐานเริ่มต้นจากความคิดเห็นในทางการเมือง ดังนั้น แม้พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบและสร้างความเสียหายแก่บุคคลและส่วนรวมเป็นเรื่องที่ผู้กระทำต้องมีความรับผิดชอบในทางกฎหมายที่เหมาะสม แต่ในหลายกรณีความรับผิดชอบในทางอาญาด้วยการฟ้องคดีและการลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษ ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ เพราะผู้กระทำความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองแตกต่างจากผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไปที่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรโดยกมลสันดาน การลงโทษพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมไม่สามารถส่งผลในทางสร้างความยับยั้งหรือความหลาบจำให้กับผู้กระทำผิดและสังคมโดยรวมตามทฤษฏีในการลงโทษทั่วไปได้ นอกจากนี้ การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของกระบวนการในการสืบสวน สอบสวน การตั้งข้อหา การรวบรวมพยานหลักฐานที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและโน้มเอียงไปในทางที่เป็นคุณต่อผู้กุมอำนาจรัฐในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย...”

ดิฉันไม่เห็นด้วยว่า คนที่ทำผิดด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองในครั้งนี้ จะมีกมลสันดานที่ดีกว่าผู้กระทำความผิดทางอาญาทั่วไป เพราะความผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองของเขา ทำให้สามีดิฉันและคนอื่นอีกมากมาย “ตาย” ไม่แตกต่างจากความผิดทางอาญา ตรงกันข้าม ดิฉันเห็นว่า ผู้ที่นำอาวุธสงครามออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุแค้นเคืองส่วนตัวใดๆ ต่อกันมาก่อน รวมถึงคนที่มีเหตุจูงใจการเมืองแล้ว จุดไฟเผาบ้านเผาเมือง ใช้อาวุธสงครามยิงวัดพระแก้วซึ่งทำร้ายหัวใจคนไทย เป็นผู้มีกมลสันดานที่โหดร้ายเลวอย่างไม่มีสิ่งใดเปรียบ จึงไม่เข้าใจว่า คอป.ใช้มาตรฐานใดในการวัดกมลสันดานคน ควรวัดที่ผลของการกระทำนั้นมากกว่า และ คอป.ก็มิได้ระบุว่าการลงโทษใดจึงจะก่อให้เกิดการยับยั้งหรือหลาบจำ มีแต่ขอให้ปล่อยตัวหรือแยกการคุมขัง นอกจากนี้ เหตุผลในช่วงท้ายข้อความข้างต้น ยังแสดงว่า คอป.เองไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ คอป.ขอให้รัฐและสังคมยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

มีนักวิชาการใน คอป.บางท่านให้ความเห็นว่าการพิจารณาเรื่องนี้ต้องก้าวข้ามว่าใครถูก-ใครผิด และต้องมองจากมุมคนกลางที่ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบจะมีความรู้สึก “แก้แค้น-เอาคืน” ดิฉันอยากบอกในฐานะเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบคนหนึ่งและเชื่อว่าญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นก็คงคิดไม่ต่างกันว่า ความอาฆาตพยาบาท ไม่ทำให้ดวงวิญญาณของคนที่เรารักสงบสุข สังคมไทยเป็นสังคมที่รู้จักคำว่า “อภัย” เพียงแต่ขอให้คนทำผิดรู้ตัวว่าเขาผิด สำนึกได้ว่าจะไม่ทำผิดอีก เราก็พร้อมจะให้อภัย แต่ไม่ใช่เขายังไม่รู้ตัวเลยว่าเขาผิด แล้วท่านจะให้ความมั่นใจกับสังคมได้อย่างไรว่า วันหนึ่งเขาจะไม่ทำผิดอีก เขาจะไม่ฆ่าคน จะไม่สร้างความรุนแรง ทำร้ายประเทศไทย ลองคิดดูว่า หากวันหนึ่งลูกหลานของท่านลุกขึ้นมาฆ่าคนตาย แล้วบอกว่าไม่ผิด เพราะผู้ใหญ่ทำให้เขาดูว่าไม่ผิด ท่านจะตอบลูกหลานท่านได้อย่างไร สังคมไทยจะอยู่กันได้อย่างไร ขอยกคำพูดอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ว่า “วิธีการปรองดองที่ดีที่สุดคือ การทำสิ่งถูกให้ถูก และทำสิ่งผิดให้ผิด ไม่ใช่ทำสิ่งที่ผิดให้ถูก และทำสิ่งที่ถูกให้ผิด การแก้ปัญหาต้องยึดหลัก เพื่อไม่ให้การแก้ป้ญหาหนึ่งกลายเป็นการสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา”
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕”
พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) นายทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น