xs
xsm
sm
md
lg

ข้อคิดเห็นต่อรายงาน คอป.และการดำเนินการเยียวยาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: สุภางค์ จันทวานิช

ข้อคิดเห็นต่อรายงานความเห็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อการกระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองและการดำเนินการเยียวยาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

สุภางค์ จันทวานิช

1. รายงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หน้า 12 ข้อ 5.3 ระบุว่า

“...สภาพความขัดแย้งในทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงและการกระทำความผิดกฎหมายอาญาของผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ความรุนแรงและการกระทำความผิดกฎหมายอาญาในลักษณะเช่นนี้มิใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมในภาวะปกติทั่วไปที่ไม่มีความขัดแย้งในทางการเมืองเช่นนี้ เพราะการกระทำความผิดมีมูลฐานเริ่มต้นจากความคิดเห็นในทางการเมือง ดังนั้น แม้พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบและสร้างความเสียหายแก่บุคคลและส่วนรวมเป็นเรื่องที่ผู้กระทำต้องมีความรับผิดชอบ (accountability) ในทางกฎหมายที่เหมาะสม แต่ในหลายกรณีความรับผิดชอบในทางอาญาด้วยการฟ้องคดีและการลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษ ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ เพราะผู้กระทำ ความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองแตกต่างจากผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไปที่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรโดยกมลสันดาน...”

“...นอกจากนี้การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของกระบวนการในการสืบสวนสอบสวน การตั้งข้อหา การรวบรวมพยานหลักฐานที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและโน้มเอียงไปในทางที่เป็นคุณต่อผู้กุมอำนาจรัฐในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย…

“...ด้วยเหตุนี้ คอป. จึงมีความเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา ๒๑๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลายทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้

๕.๓.๑ เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือการดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่…”


2. ประเด็นสำคัญของรายงานที่ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบได้แก่

ประเด็นที่ 1ความเห็นที่ว่าการฟ้องคดีและการลงโทษทางอาญาเพียงอย่างเดียวไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมและไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

ประเด็นที่ 2การดำเนินคดีอาญาตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง

ประเด็นที่ 3รัฐบาลควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดหรือไม่

ประเด็นที่ 4รัฐบาลควรทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือพยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่

3. ข้อคิดในแต่ละประเด็น

ประเด็นที่ 1การแก้ปัญหาความขัดแย้งและก่อให้เกิดความยุติธรรมในการตัดสินการกระทำผิดไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน โดยปกติหลักการใช้หลักยุติธรรมในการกระทำผิดมุ่งชดเชยเยียวยาผู้เสียหายและลงโทษผู้กระทำผิด ดังนั้น ฝ่ายผู้กระทำผิดย่อมมีความขัดแย้งเพราะไม่ต้องการรับโทษ ความพยายามที่มุ่งจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในฝ่ายผู้กระทำผิดในบริบทนี้จึงนำไปสู่การสูญเสียความยุติธรรมที่จะมอบให้ผู้เสียหายจากการถูกกระทำ แม้จะเป็นความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองก็ไม่แตกต่างจากเหตุจูงใจแบบอื่น ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ลงโทษผู้ก่อความเสียหายเช่นทำลายหรือบุกรุกอาคารสถานที่ ย่อมไม่ยุติธรรมต่อเจ้าของอาคารสถานที่ที่ถูกบุกรุกหรือทำลาย

ประเด็นที่ 2การเหมารวมว่าการดำเนินคดีอาญาต่างๆตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการด่วนสรุปให้เข้ากับแนวทางที่ คอป.ต้องการ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองระหว่างมี 2552 -2553 ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้กระทำการรุนแรงเท่านั้น แต่มีคดีอื่นๆ ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์และสื่อทางเลือกด้วย นอกจากนั้นคดีทั้งประเภทที่อยู่ในสื่อออนไลน์กับสื่อทางเลือกและประเภทที่ผู้กระทำการรุนแรงทางการเมืองกระทำผิดขณะกล่าวปราศรัยบนเวทีการเมืองนอกรัฐสภาล้วนมีความชัดเจนในการจงใจกระทำผิดและท้าทายกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การนำคดีเหล่านี้มารวมในการพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงส่อเจตนาว่าต้องการให้การกระทำผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดูรุนแรงน้อยลงและสามารถนำไปสู่การลดความผิดได้

ประเด็นที่ 3การที่รัฐบาลจะเข้าไปตรวจสอบว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ เป็นการเข้าแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอำนาจของฝ่ายบริหาร เป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลางและโน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยที่เป็นสมาชิกของ นปช. และเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทำให้รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมเพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุน หรือการทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรครัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน ข้อสังเกตที่ว่า “ข้อจำกัดของกระบวนการในการสืบสวนสอบสวน การตั้งข้อหา การรวบรวมพยานหลักฐานที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและโน้มเอียงไปในทางที่เป็นคุณต่อผู้กุมอำนาจรัฐในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย จึงเป็นข้อสังเกตที่มุ่งกล่าวโทษรัฐบาลในอดีตแต่รัฐบาลปัจจุบันกลับกระทำเช่นนั้นด้วยตนเอง ทำให้รายงานนี้สูญเสียความน่าเชื่อถือและการยอมรับได้

ประเด็นที่ 4การทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร หรือพยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่ หากนำมาใช้ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่คอป.ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของคอป.และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่ามิได้มีเจตนาอย่างมุ่งมั่นที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ เพราะการละเมิดสถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง ก้าวร้าวตามเป้าหมายล้มเจ้า การย้อนกลับมาทบทวนว่าข้อหารุนแรงเกินไปหรือพยานหลักฐานอ่อนเกินไป จึงเป็นการมุ่งช่วยเหลือผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน

ในส่วนของคดีอื่นโดยเฉพาะคดีการก่อการร้ายที่ประกอบด้วยการกระทำรุนแรงต่างๆ รวมทั้งการใช้อาวุธร้ายแรงและการทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐจนถึงแก่ความตาย การตั้งคำถามว่า การตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควรหรือพยานหลักฐานอ่อนเกินไปย่อมทำให้ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายเช่นครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่สูญเสียชีวิตของสมาชิก รู้สึกสะเทือนใจต่อคำถามดังกล่าว ดูประหนึ่งว่า รัฐไม่รับรู้ต่อการสละชีวิตของคนเหล่านั้น แน่นอนว่าญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตไม่ได้ต้องการการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่เขาย่อมหวังว่าคดีความผิดนั้นจะดำเนินไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม การแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลโดยพยายามลดความรุนแรงของการกระทำรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจนกลายเป็นความอยุติธรรมต่อครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 91 รายระหว่างการเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง เราต้องจำแนกว่า ประกอบด้วยผู้ตายอย่างน้อยสามกลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มที่สองคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่โดนลูกหลง และกลุ่มที่สามได้แก่กลุ่มผู้กระทำความรุนแรงและความไม่สงบที่เสียชีวิตจากมาตรการขอพื้นที่คืนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ดำเนินการโดยฝ่ายทหารคนกลุ่มที่สามนี้ได้ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง แต่เป็นกลุ่มที่คอป.และรัฐบาลพิจารณาว่าไม่ควรลงโทษหรือลงโทษแต่น้อยเนื่องจากเป็นความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งยังควรชดเชยหรือเยียวยาครอบครัวของผู้ตาย ประเด็นนี้ย่อมมีเสียงคัดค้านจากสังคมอย่างแน่นอน สำหรับคนกลุ่มที่สามที่ไม่ได้เสียชีวิต การไม่ลงโทษหรือลงโทษแต่น้อยย่อมเข้าลักษณะ“ปล่อยคนผิดลอยนวล” หรือการยกเว้นโทษที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า impunity และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ

มาตรการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อสร้างความปรองดองที่รัฐบาลกำลังผลักดันก็อยู่ในตรรกะเดียวกันของ impunity รัฐบาลใช้วิธีกลบเกลื่อนความผิดของผู้กระทำความรุนแรงด้วยการตีความว่าผู้เสียชีวิตทุกคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเท่าๆกัน ทั้งๆที่มีฝ่ายหนึ่ง (คือกลุ่มที่สาม) เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงและอีกฝ่ายหนึ่ง (คือกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง) เป็นผู้ได้รับความเสียหาย เมื่อตีความว่าผู้กระทำผิดได้รับผลกระทบเท่าๆกับผู้เสียหายที่ไม่ได้กระทำผิด ภาวะการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีก็ตกไป กระบวนการยุติธรรมก็แท้งไป กลายเป็นว่าทุกคนมีสิทธิจะได้รับเงินชดเชยคนละ 7 ล้านบาทจากรัฐบาล การดำเนินมาตรการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นทั้งความฉ้อฉล ไร้คุณธรรม และไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริสุทธิ์ได้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ความปรองดองที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐบาลปกครองแบบไม่มีขื่อไม่มีแป

ภาคประชาสังคมจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นแสดงเจตนารมณ์ว่าทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของประเทศไทย ผู้ที่ได้ทำร้ายประเทศจนบอบช้ำต้องได้รับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกแทรกแซงและต้องไม่ได้รับการปูนบำเหน็จ มิเช่นนั้น มาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมไทยที่ประชาชนกับเยาวชนยึดถือร่วมกันจะคลอนแคลนจนเสื่อมสลายในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น