ปธ.มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จี้ “ยุทธศักดิ์-กอ.รมน.ภาค 4” รับผิดชอบทหารยิงมุสลิมปัตตานีตาย 4 หาคนผิดลงโทษ ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง แฉ จนท.กระหน่ำใส่รถชาวบ้านทำคนโกรธแค้นเพิ่ม เชื่อจงใจปกปิดหลักฐานชัด ซัดรัฐขาดคนเข้าใจปัญหา แนะดันวาระแห่งชาติ จวก “ปู” พูดเอาอยู่ไม่ได้แน่ ไล่ลงพื้นที่บ้าง หวั่นซ้ำรอยฝันร้ายยุค “แม้ว” ยันแจกเงินไม่ใช่คำตอบ ชี้จ่าย 7.75 ล้านเยียวยาต้องถามคนเสียภาษีด้วย
วันนี้ (31 ม.ค.) นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต 4 ศพ และได้รับบาดเจ็บ 4 คนที่ จ.ปัตตานี โดยระบุว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นผู้ก่อความไม่สงบทั้งๆ ที่ความเป็นจริงคือ คนเหล่านี้เป็นชาวบ้านที่เพิ่งกลับจากการละหมาดและกำลังจะเดินทางไปละหมาดในงานศพ แต่มีเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้นในเส้นทางที่ใช้เดินทาง ซึ่งชาวบ้านที่รอดชีวิตให้ข้อมูลว่า เมื่อรถไปถึงบริเวณด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงตัวที่จะขอตรวจค้น แต่มีการยิงใส่รถของชาวบ้านจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านอยู่ในอารมณ์ที่โกรธแค้น และยิ่งตอกย้ำความไม่ไว้วางใจที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
“หลังจากเกิดเหตุแม้แต่นายอำเภอก็ยังเข้าถึงที่เกิดเหตุอย่างยากลำบาก มีการจงใจที่จะปกปิดความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน และยังละเมิดข้อตกลงที่เคยมีร่วมกันว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่เกิดข้อสังสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องต้องให้ผู้นำศาสนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเหตุการณ์ แต่กรณีนี้ไม่มี และยังมีการปิดกั้นบริเวณห้ามไม่ให้เดินทางเข้าไปจนทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ได้รับการส่งตัวเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ซึ่งชาวบ้านคิดว่าหากมีการนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่งไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ความสูญเสียก็จะไม่มากขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูความไว้วางใจจากประชาชนได้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ต้องออกมายอมรับความผิดพลาดและประกาศให้ชัดในการนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่มุ่งเรื่องการเยียวยาเพียงอย่างเดียว” นางอังคณากล่าว
นางอังคณากล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่มีบุคคลที่เข้าใจต่อปัญหาภาคใต้อย่างแท้จริง ทั้งตัวนายกฯ พล.อ.ยุทธศักดิ์ หรือแม้แต่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ ซึ่งการที่ขาดความเข้าใจถึงสภาพปัญหาทำให้ไม่สามารถกำหนดทิศทางที่ถูกต้องได้ ที่ผ่านมารัฐบาลพูดเสมอว่าใช้สันติวิธี แต่ในขณะนี้ชาวบ้านมองว่ากำลังใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง ซึ่งจะเป็นการขยายความรุนแรงออกไปสู่ผู้บริสุทธิ์มากขึ้น ตนจึงขอวิงวอนให้นายกฯ เห็นปัญหาภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติที่คนเป็นผู้นำประเทศต้องดูแลด้วยตัวเอง ไม่ใช่มอบหมายให้คนอื่นดูแล
“นายกฯ จะบอกว่าหนูไม่รู้ไม่ได้ หรือจะพูดแค่ว่าเอาอยู่เหมือนตอนเกิดวิกฤตน้ำท่วมก็ไม่ได้ แต่ต้องลงพื้นที่สัมผัสกับชาวบ้านเพื่อรับรู้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะตอนนี้ชาวบ้านเกิดความหวาดผวา กลัวว่าปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในยุค พ.ต.ท.ทักษิณจะกลายเป็นฝันร้ายที่กลับมาหลอกหลอนขาวบ้านอีกครั้ง ในยุคนั้นมีการอุ้มฆ่าโดยอ้างจากเรื่องของยาเสพติด ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มมีการส่งสัญญาณใช้ความรุนแรงเกี่ยวกับยาเสพติดอีกครั้ง แม้แต่ในพื้นที่ กทม. เจ้าหน้าที่ถึงกับระบุในเชิงข่มขู่ผู้ต้องสงสัยว่า หากไม่มามอบตัวก็จะไม่รับรองความปลอดภัย 2,500 ศพจากฆ่าตัดตอนในอดีตไม่เคยนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ รัฐบาลอย่าซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต หากเรื่องเหล่านี้กลับไปเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง นอกจากจะไม่สามารถคืนสันติสุขได้แล้ว ปัญหาจะลุกลามจนกลายเป็นสงครามที่ยากจะควบคุม” นางอังคณากล่าว
นางอังคณายังเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน คือ ภาครัฐ ประชาชน ผู้นำศาสนา คนที่ประชาชนไว้ใจ และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้อำนาจในการเรียกเอกสารและเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจง โดยให้ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบาย เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องยากหากเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการพบอาวุธก็ควรตรวจดีเอ็นเอให้ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฎชัดว่าผู้ที่อยู่ในรถมีแต่คนแก่กับเด็ก ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ต้องคืนความยุติธรรมซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ปัญหา เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในพื้นที่เดียวกัน คือ ช่วงเดือน เม.ย.54 มีเด็กวัยรุ่นออกจากบ้านไปในช่วงเวลาที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ก่อความไม่สงบ และเด็ก 2 คนนี้ถูกยิงเสียชีวิต โดยก่อนตายผู้เสียชีวิตได้คุยโทรศัพท์กับแม่และบอกว่าถูกทหารยิง แต่เมี่อแม่เดินทางไปถึงก็พบว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เคยมีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด นอกจากให้เงินศพละ 1 แสนบาท ซึ่งไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผละกระทบจากเหตุความไม่สงบภาคใต้ในหลักเกณฑ์เดียวกับกับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ได้ศพละ 7.75 ล้านบาทนั้น นางอังคณากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจที่จะดำเนินการอย่างแท้จริง เนื่องจากการเยียวยาด้วยเงิน 7.75 ล้านบาท มีการกำหนดตัวเลขออกมาก่อนหลักเกณฑ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และมีคำถามว่าชีวิตคนควรที่จะมีค่าเท่าเทียมกันหรือไม่ และการที่รัฐบาลตั้งโจทย์โดยการใช้เงินเป็นตัวตั้งก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ดังนั้น คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่เป็นผู้เสนอเรื่องนี้ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามาตรฐานการดูแลของรัฐต่อประชาชนมีบรรทัดฐานอย่างไร เพราะหากอ้างว่าผู้ชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาควรได้รับการเยียวยาเพราะรัฐไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนได้ ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน
“ไม่ว่าจะใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างความสงบและความปรองดองได้ ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิด และควรต้องถามเจ้าของเงินที่เป็นผู้เสียภาษีด้วยว่า การใช้เงินของรัฐบาลเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ แม้ว่าความตายไม่สามารถแลกได้ด้วยเงิน แต่รัฐบาลต้องไม่มีหลายมาตรฐานในการกำหนดราคาชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งไม่จบสิ้น แนวทางปรองดองที่แท้จริง คือ สร้างความเป็นธรรมมีบรรทัดฐานในการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นคำตอบ และจริงจังกับการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดกฎหมายแทนการปกป้อง จึงจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ แต่ขณะนี้ความเป็นธรรมในภาคใต้ยังไม่เกิด มีเรื่องเยียวยา ไม่เสมอภาคมาซ้ำเติมอีก ยิ่งทำให้เป็นห่วงว่ารัฐบาลจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการดูแลปัญหาความไม่สงบในภาคใต้” นางอังคณากล่าว