ภูมิใจไทย เอาด้วยค้านนิติราษฎร์ แก้ ม.112 จี้ ยุติความเคลื่อนไหว พร้อมเรียกร้อง พท.แสดงจุดยืนให้ชัด หลังพบ ส.ส.ในสังกัดเคยเสนอประเด็นเดียวกับนิติราษฎร์เข้าสภา วอนให้ถอนญัตติออก ขณะเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.ชี้ ยังไม่ถึงเวลา จวก “เฉลิม” จุดพลุ พ.ร.บ.ปรองดอง หวั่นเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ ข้องใจจับยาเสพติดล็อตใหญ่ช่วงนี้ จัดฉากสร้างผลงานหรือไม่
นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคประจำสัปดาห์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับคณะนิติราษฎร์ ว่า พรรคภูมิใจไทยได้แสดงจุดยืนต่อต้านแนวความคิดนี้ มาโดยตลอดเพราะเป็นเรื่องไม่บังควร และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันปกป้องไม่ให้มาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง
ทั้งนี้ คณะนิติราษฎร์เป็นกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการสามารถทำได้ แต่เมื่อเสนอแล้วสังคมไม่ตอบรับ ก็อยากให้ยุติความคิดนี้ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็อยากให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้าที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ผ่านมา ก็มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะเสนอญัตติกรณีเดียวกับคณะนิติราษฎร์เข้าสู่ที่ประชุม ดังนั้น เพื่อความชัดเจนไม่อยากให้สังคมมองว่าเล่นหลายบทบาทและมีความเห็นสอดคล้องกับคณะนิติราษฎร์ ก็ควรให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยถอนญัตติดังกล่าวออกไป
นายศุภชัย ยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีหลายส่วนที่ไม่ได้ส่งเสริมการปกครองที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย ปล่อยให้บางอำนาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารประเทศไทย เช่น ม.237 เกี่ยวกับการยุบพรรค ที่จะตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจใช้กลไกเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระและกลั่นแกล้งได้ รวมถึงยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สมควรจะแก้ไข แต่เวลานี้พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า การจะแก้รัฐธรรมนูญต้องขึ้นกับเวลาและสถานการณ์ว่า ช่วงใดเหมาะสม
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นผู้พิจารณาและพร้อมรับฟังข้อเสนอของ คอป.ดังนั้น ถ้า คอป.เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ก็คงจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ศึกษาแนวทางนี้อยู่แล้วว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ
“ถ้ารัฐบาลใช้เวลาตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดี ก็เชื่อว่า จะมีเวลาอยู่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ช่วงเวลานี้พรรคเห็นว่ายังไม่เหมาะสม แต่ถ้าหากวิปรัฐบาลมีโรดแมปเดินหน้าในเรื่องนี้ ก็ควรจะรับฟังความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญด้วย”
ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ก็หวังว่าจะเป็นแค่ความคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม เพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่เช่นนั้น กรณีนี้จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ของสังคมทันที เพราะเวลานี้ประเทศชาติมีหลายเรื่องที่ต้องทำ อีกทั้งยังไม่ถึงเวลา บ้านเมืองเราไม่อยากให้เกิดบรรยากาศขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก และไม่ควรสุมฟืนเข้ากองไฟ
นายศุภชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่รัฐบาลเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ว่า เป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาฆ่าตัดตอนกลับมาอีกครั้ง ว่า วันนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และตำรวจ มีผลงานมาก พรรคขอชื่นชม ถ้าการดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา แต่ก็มีข้อสงสัยว่าชุดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในเวลานี้ก็เป็นชุดเดียวกับรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้ถึงจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ได้มากมายขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ก็ชุดเดิมๆ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงแค่ ผบ.ตร.เพียงคนเดียว
“ตรงนี้สังคมคาใจว่า เป็นเพราะจัดฉากสร้างผลงานหรือไม่ หรือยาเสพติดมีจำนวนมากจริง กระทั่งเอาของกลางมาเวียนหรือไม่ ขณะนี้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จะมีการใช้มาตรการฆ่าตัดตอนเหมือนสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี เกิดขึ้นอีก และจะมีคนหลายคนต้องตกเป็นเหยื่อ จึงอยากให้รัฐบาลระมัดระวังด้วย” นายศุภชัย กล่าว
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ วิปรัฐบาลจะเสนอให้พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ที่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับ เพราะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพราะ ส.ส.เป็นห่วงเรื่องการบริหารงบประมาณที่ไปใช้สุ่มเสี่ยงไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ อีกทั้งเกรงว่าจะเกิดปัญหาทุจริต เนื่องจากวงเงินมหาศาล และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 (การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท) ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหาร ตรงนี้ไม่น่าจะชอบธรรมด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน รัฐบาลควรเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็น พ.ร.บ.จะเหมาะสมมากกว่า