เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นผู้ตรวจฯ ร้องศาล รธน.พิจารณา 399 สมาชิกรัฐสภารับรองร่างแก้ไข รธน. ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน “ผาณิต” ไม่หวั่นนายกไม่พิจารณา 2 ตำแหน่ง รมต. เหตุอย่างน้อยสังคมรู้สิ่งที่ถูกควรเป็นอย่างไร ระบุส่วนตัวคิดตำแหน่งผู้ตรวจเป็นส่วนเกินของชีวิต จึงไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 มี.ค. นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน พร้อมด้วยเครือข่ายกว่า 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการเสนอและมีมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่... พ.ศ. .... ของสมาชิกรัฐสภา 399 คน หากเห็นว่าเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองพิพากษา
ทั้งนี้ นพ.ตุลย์กล่าวว่า การที่สมาชิกรัฐสภา 399 คน ลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นดำเนินการร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของมาตรา 291 (1) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้สมาชิกรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญและให้สภาเป็นผู้พิจารณา 3 วาระ ไม่ใช่แก้มาตรา 291 เพื่อให้อำนาจบุคคลอื่น หรือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้มาแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อีกทั้งการให้อำนาจกลุ่มบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ ส.ส.ร.ก็ไม่เป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่ได้
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ผมได้ถาม ส.ส.ร.50 ถึงเจตนารมณ์ของการมีมาตรานี้ เขาบอกว่ามีไว้เพื่อหากมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ให้แก้เป็นมาตรา ไม่ใช่แก้เพื่อยกอำนาจให้ผู้อื่น มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วยังบอกว่า ส.ส.ร.เสนอมาอย่างไรก็ห้ามมีการแก้ไข ขนาดประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อเสนอออกกฎหมายยังถูกแก้ในการพิจารณาทั้ง 3 วาระได้ แล้วนี่ ส.ส.ร.เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษหรืออย่างไร ถึงเสนอแล้วสภาจึงห้ามแก้ไข ตรงนี้ทำให้เราข้องใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นพ.ตุลย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ตุลย์ยังได้สอบถามถึงความชัดเจนของมติผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณากรณีการแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรฯ ซึ่งนางผาณิตได้ชี้แจงว่า มติของผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าแบบฟอร์มของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรียังไม่ได้มีการคำนึงถึงจริยธรรมของผู้ดำรงตำแห่งทางการเมืองจึงได้เสนอให้ปรับปรุง ส่วนนายกรัฐมนตรีเห็นว่ายังไม่มีความรอบคอบเพียงพอ จึงเสนอให้มีการพิจารณาให้คำนึงถึงจริยธรรมการเป็นแบบอย่างที่ดีเกียรติภูมิของชาติ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงกลับมาภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ และเมื่อได้รับหนังสือตอบกลับแล้ว ผู้ตรวจการฯ ก็จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ในรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการฯไมได้มีอำนาจเรื่องการถอดถอน แม้ว่าเห็นว่าเป็นความผิดร้ายแรงก็ต้องส่งไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา ก่อนส่งให้วุฒิสภาลงมติถอดถอน ที่ผ่านมาผู้ตรวจฯ ได้ดำเนินการในเรื่องของจริยธรรมไปหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ครั้งนี้เป็นการเรื่องจริยธรรมของผู้นำประเทศที่บัญญัติไว้ในรับธรรมนูญและผู้ตรวจฯเห็นว่าจะต้องปฏิบัติตามทุกประการ จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่พิจารณาก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยสังคมได้รู้ว่าสิ่งที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไร
“ไม่ต้องห่วงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะการมาอยู่ตรงนี้ของพวกเราทุกคนถือว่าเป็นส่วนเกินของชีวิตแล้ว เราถูกแรงปะทะจากทุกทิศทาง ถึงจะเซบ้างแต่ก็ต้องยืนให้อยู่ เพราะเราถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายได้อย่างรอบครอบเป็นการตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น” นางผาณิตกล่าว
ส่วนกรณีที่ยื่นให้ตรวจสอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากผู้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าอยู่ในอำนาจก็จะต้องนำระเบียบและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาศึกษา ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าผู้ตรวจฯจะพิจารณาโดยฟังความข้างเดียว แต่จะดูเหตุดูผลและกฎหมายเป็นหลัก
นางผาณิตยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรมนายกรัฐมนตรี กรณีรัฐบาลมีนโยบายบ้านหลังแรกที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท เอสซี แอสเซท ของตระกูลชินวัตรว่า เรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงกลับมาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจการฯว่านโยบายบ้านหลังแรกกระทบต่อเอสซีแอสแซทอย่างไร แต่มีปัญหาว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งขอชะลอการปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวไว้ก่อน ทางผู้ตรวจการฯ จึงมีความจำเป็นจะขอเอกสารเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่