xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างพิจารณารายงาน กมธ.ปรองดอง พร้อมข้อเสนอแนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ
กมธ.ปรองดอง อ้างประเทศเสียหายใหญ่หลวง เกิดจากความแตกแยกของทุกสีทุกฝ่ายฝังรากลึกยากเกินหน่วยงานใดจะแก้ไข เห็นควรแก้ด้วยปรองดองผ่านกระบวนการนิรโทษฯ แนะทุกฝ่ายใช้หลักเมตตาธรรมด้วยการให้โอกาสคนแทนการลงโทษด้วยกม. พร้อมเตือนรัฐอย่าเลือกปฏิบัติแจกเงินเยียวยา และต้องระบุประเด็นแก้ รธน.ให้ชัด

วันที่ 13 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้นำหมายเหตุ สาระสำคัญของร่างรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากสถาบันพระปกเกล้านำเสนอรายงานการวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดองมายังกมธ.ก่อนหน้านี้

1. ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ

1.1 คณะกรรมาธิการเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการเมือง การปกครอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทุกด้านมีความอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมจนนำไปสู่การไขปัญหาโดยการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ทำให้เกิดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความสอดคล้องกับหลักนิติธรรมของกลไกต่างๆ ของรัฐ กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจดังกล่าว เป็นเหตุให้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วมีความซับซ้อนและเพิ่มปัญหามากขึ้น

1.2 คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าเหตุการณ์แห่งความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มิได้เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นผลของการกระทำและเหตุการณ์หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกันที่เป็นปัญหาความขัดแย้งจนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553

1.3 คณะกรรมาธิการเห็นว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชนที่แสดงออกโดยการแบ่งออกเป็นกลุ่มเป็นสี จึงต้องแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการปรองดองสมานฉันท์เพื่อขจัดความทุกข์ความไม่สบายใจของคนในชาติ โดยร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังพบว่าการสร้างกระบวนการปรองดองในประเทศไทยมีความแตกต่างกับต่างประเทศที่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ยุติลงแล้วจึงเกิดกระบวนการปรองดอง แต่ในกรณีของประเทศไทยเป็นการสร้างความปรองดองในขณะที่คู่กรณีและสาเหตุแห่งความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ซึ่งอาจเกิดการเผชิญหน้าที่นำไสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้อีกตลอดเวลา การสร้างความปรองดองของสังคมไทยจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมกันนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งในครั้งนี้ไปให้ได้

1.4 คณะกรรมาธิการพบว่าประเด็นที่อ่อนไหวอันอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมและนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ในที่สุดขณะนี้ประกอบด้วย (1) ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (2) ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ (3) ประเด็นการปรองดองโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอประเด็นดังกล่าวข้างต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อีก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตและการเยียวยาประชาชนในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 และการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรัฐบาลยังไม่สามารถทำความเข้าใจหรือสร้างกระบวนการให้เป็นที่ยอมรับจากสังคมได้ จะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งใหม่ของสังคมในที่สุด

1.5 ผลของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยในขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง ในระดับอันตรายสูงสุด ทำให้ประเทศขาดความมั่นคงและสูญเสียอำนาจการแข่งขัน ประกอบกับที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ปัจจัยสำคัญดังกล่าวถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องมีการความปรองดองหันหน้าเข้าหากัน แปลงวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเพื่อฟื้นความสงบสุขและความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับมา ประการสำคัญ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับคนในชาติขณะนี้มาจากความแตกต่างทางความคิดซึ่งล้วนแต่มีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติโดยเร็วที่สุด

1.6 ปัจจัยที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองแห่งชาติ คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าที่เห็นว่าสังคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการสร้างความปรองดองระยะสั้นเพื่อวัตถุประสงค์ให้การใช้ความรุนแรงยุติลง ทำให้ความขัดแย้งบาดหมางและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดด้วยการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย

2. ข้อเสนอแนะ

2.1 คณะกรรมาธิการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ได้ถูกสั่งสมจนทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกจนเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ไขปัญหาโดยลำพังได้ ในขณะที่รากเหง้าอันเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข สภาพความขัดแย้งและคู่กรณีแห่งความขัดแย้งรวมถึงเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ทุกฝ่ายในสังคมต่างต้องการให้ประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่การปรองดองด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พรรคการเมือง กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ จะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคมไทยในขณะนี้มีความเปราะบางเป็นพิเศษทุกฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมมือกันบริหารความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบสันติวิธี

การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีมาตรการในเชิงลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง ไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษ ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมและไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ การให้ความยุติธรรม (Justice) ในทางกฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม รวมถึงการนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยโดยใช้หลักเมตตาธรรมด้วยการให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายตามวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.2 รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐจะต้องใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังเห็นว่า การชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแม้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองก็ตาม แต่รัฐบาลจะต้องกระทำไปด้วยความรอบคอบเพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับว่าได้ดำเนินการไปด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง ในขณะนี้สังคมเริ่มมีความคลางแคลงในมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 รัฐบาลต้องพยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมให้เกิดการยอมรับให้ได้ รัฐบาลต้องพึงระลึกว่าจะต้องไม่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง และจะต้องตระหนักว่ายังมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการการชดเชยอย่างเหมาะสม

2.3 แม้ผลศึกษาของคณะกรรมาธิการจะพบว่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียอย่างประมาณค่ามิได้สู่สังคมไทยและประเทศไทยจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง แต่ในขณะสังคมไทยมีความเปราะบางและตั้งอยู่บนความหวาดระแวง คณะกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่าฝ่ายที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะกำหนดประเด็นที่จะแก้ไขและนำเสนอต่อสังคมเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำเพื่อให้ประเทศชาติมีความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มิได้กระทำไปโดยเจตนาอื่นแอบแฝงหรือกระทำไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด หากแต่เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์สาธารณะ

คณะกรรมาธิการทราบดีว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการขอแก้ไขมาตรา 291 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ไปดำเนินการแก้ไข ในส่วนประเด็นใดที่ควรได้รับการแก้ไขแม้จะถือเป็นดุลพินิจของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถนำเสนอประเด็นต่อสังคมได้ว่าต้องการให้มีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง มีสาระสำคัญที่ต้องการให้มีการแก้ไขเป็นอย่างไร ดังนั้น หากการแก้ไขของสภาร่างรัฐธรรมนูญมิได้เป็นไปตามกรอบหรือขัดแย้งกับหลักการที่พรรคการเมืองได้นำเสนอต่อสังคมไว้แล้วก็ชอบที่พรรคการเมืองนั้นจะไม่ลงมติรับเป็นกฎหมาย ด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะทำให้สังคมมีความไว้วางใจและจะนำไปสู่การถกเถียงในทางวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสามารถยุติความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวได้ในที่สุด

2.4 คณะกรรมาธิการเห็นว่าสังคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการปรองดองควบคู่ไปกับการยุติเหตุการณ์ความขัดแย้งทั้งหลายที่อาจเป็นต้นเหตุนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมและนำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด การยุติความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองของคนในชาติจึงถือเป็นปัญหาความมั่นคงและเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงของรัฐและการพัฒนาประเทศไม่อาจดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกแยกเช่นนี้ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่าหน้าที่ในการสร้างความปรองดองไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเท่านั้น หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคม ประการสำคัญกระบวนการปรองดองจะต้องดำเนินการโดยผู้ที่ไม่ใช่คู่กรณีแห่งความขัดแย้งและมีความเป็นกลางเพียงพอ คณะกรรมาธิการจึงเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า

2.5 ถึงแม้การยุติความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติจะถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่โดยที่คณะกรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่เพียงนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นทางออกหนึ่งให้กับสังคมไทยเท่านั้น คณะกรรมาธิการจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่อาจนำเอาความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการและสถาบันพระปกเกล้าในประเด็นที่จะทำให้การใช้ความรุนแรงยุติลงด้วยการให้อภัยโดยการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาจากคณะ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วยการคืนความถูกต้องและความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ารวมถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้คนในสังคมยังดำรงอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยุติเงื่อนไขดังกล่าวโดยเร่งด่วน ประการสำคัญการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น