xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้รัฐเมินปัญหา 3 ข้อใหญ่ ทำจีดีพีตก แถมจุดไฟ สร้างปมขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีการสรุปตัวเลขการขยายตัวสภาวะเศรษฐิจปี 2554 ของสภาพัฒน์
“อภิสิทธิ์” ระบุตัวเลขเศรษฐกิจตก เหตุรัฐบาลเมิ่นปัญหาใหญ่ 3 ข้อ แถมยังจุดไฟ สร้างปมขัดแย้งเพิ่ม ฝากเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพด่วน ขณะเดียวกันยังห่วงแก๊งเสื้อแดง ขยายหมู่บ้านหวังเอาไว้หนุนแก้ รธน.ช่วย “นช.แม้ว” จะนำไปสู่ความรุนแรงช่วงแก้ รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสรุปตัวเลขการขยายตัวสภาวะเศรษฐกิจปี 2554 ของสภาพัฒน์ว่า ตัวเลขปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.1 เป็นผลมาจากน้ำท่วม และปีนี้เมื่อไตรมาสสุดท้ายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ ควรจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้เร็ว แต่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ มีทั้งภายนอกและภายใน ที่เป็นห่วงเพราะรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร อย่างปัญหาทางยุโรปก็ยังไม่มีการพูดกันอย่างชัดเจนว่าจะมีแนวทางการรองรับอย่างไร

ส่วนปัจจัยภายใน 3 ปัจจัยที่สำคัญที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาของรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น 1. ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายพลังงานที่ผิดของรัฐบาล 2. ปัญหาน้ำท่วมซ้ำสอง หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวอย่างรุนแรง และ 3. ปัญหาการเมือง ปัญหาความมั่นคง ปัญหาความขัดแย้ง ที่รัฐบาลไม่ใส่ใจ มีแต่จะเดินหน้าสร้างปมความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องมีสมาธิกับ 3 เรื่องนี้ แล้วก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน

“จริงอยู่ ในช่วงประมาณ 3-4 เดือนแรก การเติบโตก็อาจจะล่าช้า ไม่เติบโตมาก แต่ก็มีสัญญาณเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ที่ 3 ว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขท่องเที่ยว ตัวเลขส่งออก จนกระทั่งมาเจอปัญหาน้ำท่วม เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหานี้ แล้วก็ขณะเดียวกัน ก็ต้องมาดูว่าตัวเลขจากช่วงประมาณมกราคม กับครึ่งเดือนนี้จะมีท่าทีอย่างไร เท่าที่สอบถามแล้วผมคิดว่าถ้าพูดถึงในแง่ความเสียหายของน้ำท่วมตัวเดียว การฟื้นตัวขึ้นมา หรือการกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็ไปได้ค่อนข้างเร็ว เพราะฉะนั้น ตัวเลขนี้ก็ไม่น่าทำให้เราตกใจมากนักในแง่ของปีนี้ แต่ว่าในปีนี้ปัจจัยเสี่ยงจะมาจากที่อื่นมากกว่า ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจต่างประเทศ เรื่องยุโรป”

ส่วนการที่หลายหน่วยงานออกมาวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ระหว่างสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แต่ละหน่วยงานจะมีการคาดการณ์เป็นของตัวเอง ตนไม่ติดใจ เพราะถือว่าตัวเลขที่ต่างกันอยู่ขณะนี้บ่งบอกอัตราการเติบโตอยู่ตั้งแต่ 4.5 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ใช้ได้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเคยบอกว่าจะทำให้อัตราการเติบโตอยู่ที่ 7 ขึ้นไป

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเป็นห่วงประเทศไทยจะเกิดภาวะวิกฤตอีกครั้งช่วงกลางปี จากหลายปัญหาที่รัฐบาลไม่ใส่ใจ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง รวมถึงปัญหาการก่อวินาศกรรม โดยเฉพาะการขยายหมู่บ้านคนเสื้อแดงในพื้นที่ จ.อุดรธานี กว่า 1,000 หมู่บ้าน ที่จะมีการประกาศเพิ่มช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ซึ่งเป็นการแบ่งแยกประชาชน และสวนทางกับนโยบายปรองดองของรัฐบาล และจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ นำไปสู่ความรุนแรงช่วงกลางปีที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดง หวังผลเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“วันนี้หากรัฐบาลจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงสามารถทำได้เพราะเป็นรัฐบาลแล้ว โดยพูดคุยกับทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะแบ่งแยกประชาชน”

ส่วนข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เสนอให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับแทนที่จะปรับปรุงบางมาตรานั้น เห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้ยกร่างทั้งฉบับอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐสภา และ ส.ส.ร.ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อน รัฐบาลควรกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่าจะมีการแก้ประเด็นใดบ้าง เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง

ส่วนที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า คณะรัฐมนตรีจะมีการนำแผน กยน.นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถขอพระราชทานคำแนะนำได้ ซึ่งปกตินายกรัฐมนตรีก็มีการถวายรายงานเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ควรเอาเรื่องมาเผยต่อสาธารณะ เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับในวันพรุ่งนี้ โดยเห็นว่าทุกฝ่ายควรจะรอฟังคำวินิจฉัย แต่หากร่าง พ.ร.ก. ไม่ผ่าน ควรจะมีคนรับผิดชอบทางการเมือง โดยเฉพาะคนที่เสนอให้ออก พ.ร.ก.และไม่ขัดข้องที่จะมีการออกเป็นพระราชบัญญัติแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น