กาญจนบุรี - ชาวสระลงเรือเฮ ! ลั่นหลัง สำนักงาน กปร.มีมติผ่านโครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า หลังนายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ ยื่นถวายฎีกาถึงในหลวง ได้ทรงพิจารณารับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ต่อเนื่องจากคลองส่งน้ำคู่ขนาน ท่าล้อ-อู่ทอง
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (11 ธ.ค.54) นายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ ร.ต.ต.พัฒนา สัมมาทิตติ ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาผ่านราชเลขาธิการขอพระราชทานแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการทำอาชีพเกษตรกรรมและใช้เป็นน้ำกินน้ำใช้ตลอดปีสำหรับราษฎรในเขตตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 13 จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสรุปความเห็นไปยังสำนักงานราชเลขานุการเพื่อนำความกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี-พนมทวน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 679,000,000 บาท (หกร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านบาทถ้วน) มีความยาวทั้งสิ้น 61.275 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง
เทศบาลตำบลสระลงเรือ และราษฎรในพื้นที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าคลองส่งน้ำชลประทานที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน หากไม่มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า ควบคู่กับคลองชลประทานส่งน้ำที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ ก็อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ตำบลสระลงเรือ ได้อย่างทั่วถึง เพราะคลองส่งน้ำชลประทานที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันจะผ่านพื้นที่ตำบลสระลงเรือเพียง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 8 และหมู่ 11 คิดเป็นร้อยละ 28.31 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่ตั้งของตำบลสระลงเรือ ทำให้พื้นที่ทางทิศตะวันตกและพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตำบล ประกอบไปด้วย หมู่ 1 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 12 หมู่ 13 หมู่ 14 หมู่ 15 หมู่ 16 และหมู่ 17 ที่มีลักษณะแห้งแล้งตลอดทั้งปี ราษฎรทำการเกษตรไม่ได้ผลผลิต ทำให้อยู่ในสภาพขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน เนื่องจากในเขตหมู่บ้านยังไม่มีระบบชลประทาน หรือโครงการอื่นใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของราษฎรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ทำให้ราษฎรภายในตำบลเกิดความท้อแท้ในชีวิตและความเป็นอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูแล้งราษฎรไม่สามารถหาแม้กระทั่งน้ำในการอุปโภค-บริโภค มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเทศบาลฯ ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้น แต่ในเมื่อในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือไปที่จังหวัด หรือหน่วยงานทหารเท่านั้น เราจึงมีความคิดว่าหากมีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างโรงสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าขึ้นมาในเขตพื้นที่ ก็จะสามารถแก้ปัญหาความมั่นคงในชีวิตของราษฎรได้อย่างยั่งยืนที่สุด
เบื้องต้นสำนักงานชลประทานที่ 13 จังหวัดกาญจนบุรี ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตามแนวที่คลองผ่าน ได้ทำการสำรวจและกำหนดจุดหัวจ่ายน้ำ แนวคลองส่งน้ำ ตลอดจนแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ และได้บันทึกคำยินยอมที่ราษฎรร่วมบริจาคที่ดินของตนเองตามแนวคลองส่งน้ำ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ ต.ท่าล้อ ต.หนองขาว (อ.ท่าม่วง) ต.ทุ่งสมอ ต.หนองโรง ต.พนมทวน ต.ดอนตาเพชร ต.รางหวาย (อ.พนมทวน) ต.ดอนแสลบ และ ต.สระลงเรือ (อ.ห้วยกระเจา) จะเห็นได้ว่าพื้นที่ตำบลสระลงเรือจะเป็นจุดสุดท้ายของจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะไปสิ้นสุดที่ ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
นายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสระลงเรือ เปิดเผยต่อว่า เทศบาลตำบลสระลงเรือพร้อมด้วยราษฎรในตำบลและตำบลข้างเคียง โดยเฉพาะตำบลหนองประดู่ อ.เลาขวัญ ซึ่งเป็นตำบลข้างเคียงที่ไม่อยู่ในแนวคลองส่งน้ำ แต่หากมีการก่อสร้างโรงสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่ตำบลสระลงเรือจริง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรตำบลหนองประดู่ได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยตำบลหนองประดู่ก็ได้ดำเนินการถวายฎีกาขอพระราชทานฯ ไปแล้วด้วยเช่นกัน เนื่องจากต่างเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ตำบลสระลงเรือและตำบลข้างเคียงได้อย่างตรงจุด
นายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสระลงเรือ เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่านรองราชเลขาธิการฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ขอให้มีโครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา คุณสมบูรณ์ วงศ์กาด คุณจิตพล สิทธิประณีต และคุณณัฏฐชัย นริณกรณัฐ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยตัวแทนจากกรมชลประทาน ได้เดินทางประชุมและตรวจสอบพื้นที่ โดยคณะกรรมการ กปร.มีมติในที่ประชุมว่าให้ผ่านโครงการดังกล่าว และถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณารับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ซึ่งต่อเนื่องจากคลองส่งน้ำคู่ขนาน ท่าล้อ-อู่ทอง โดยหลังจากราษฎรพื้นที่ตำบลสระลงเรือทั้งหมดทราบข่าว ต่างมีความปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างมาก