“ประธานชมรมแพทย์ชนบท” เมินงบกลาง เตรียมยื่นรายชื่อแพทย์-พยาบาล จาก รพ.730 แห่ง ให้ นายกฯ เพื่อเสนอปรับเปลี่ยนระบบจ่ายค่าตอบแทน
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณีการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขปีงบประมาณ 2554 ว่า ในการประชุมชมรมแพทย์ชนบทประจำปีนี้ จะมีการรวบรวมรายชื่อสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์อยู่ 3,000 คน พยาบาล 40,000 คน จากโรงพยาบาล (รพ.) 730 แห่ง ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน เพื่อนำข้อเสนอและรายชื่อดังกล่าวรวบรวมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทน เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีปัญหามาโดยตลอด ทำให้ในปีงบประมาณ 2554 มีการปัญหาในการกระจายงบประมาณ ในปีนี้บุคลากรทั้งหมดจึงยังไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย ทั้งที่มีการอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณแล้ว แต่จากการความล้มเหลวของฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำ ทำให้เกิดความล่าช้าดังกล่าว
ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือ การขอความมั่นใจในการจัดสรรงบประมาณของปีถัดไปว่าจะสามารถจัดสรรได้โดยไม่มีปัญหา ด้วยการคงระเบียบเงินบำรุง ฉบับที่ 4 และ 6 ไว้ ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ที่จะยกเลิกระเบียบเงินบำรุงดังกล่าว และหันกลับไปใช้วิธีการกระจายงบประมาณแบบเก่า โดยข้อเสนอดังกล่าว จะมีการนำเสนอโมเดลการกระจายงบประมาณของโรงพยาบาลชุมชนแบบใหม่ โดยไม่ใช่เงินจากงบประมาณกลาง เพราะเมื่อพิจารณาจากงบประมาณรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 235 บาทในปี 2554 ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 201 บาท และงบส่งเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น 34 บาท โดยโมเดลที่จะเสนอ จะใช้เงินที่เพิ่มขึ้นก้อนดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 100 บาท สำหรับจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาล ซึ่งเมื่อคำนวณจากประชาชนที่ลงทะเบียนอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 38 ล้านคน จะเท่ากับ 3,800 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณที่เคยได้รับจากงบประมาณกลางตามระเบีบยเงินบำรุง ฉบับ 4 และ 6 ส่วนเงินอีก 100 บาท ก็จะนำไปใช้แก้ปัญหาของระบบ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการกระจายงบประมาณ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งใกล้เคียงกันในทั่วโลก ที่จะหาบุคลากรไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลได้ยาก แต่จากการแก้ปัญหาความมั่นคง ในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข และ การเพิ่มค่าตอบแทนในช่วงสมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.สาธารณสุข ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่แพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ไหลกลับเข้าสู่ระบบ คือ กลับมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ประมาณ 100 กว่าคน แต่จากการจ่ายค่าตอบแทนที่ล่าช้า ก็เริ่มเกิดกระแสว่า แพทย์ที่เคยไหลเข้ามาก็จะไหลออกเช่นเดิม