"อังคณา" เผยรัฐเล็งเยียวยาให้ผู้เสียหาย "ตากใบ - กรือเซะ" กำลังปลุกความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อคนในพื้นที่ เนื่องจากต่างก็มองว่าตัวเองได้รับความเสียหายจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐด้วยเช่นกัน ชี้ไม่มีหลักเกณฑ์การจ่ายชัดเจนแต่กลับมีตัวเลขมหาศาลออกมาก่อน ทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ได้ช่วยปรองดอง
วันที่ 26 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และหนึ่งในคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและประเมินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ได้ร่วมรายการ "คนเคาะข่าว" พูดคุยในประเด็นเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาท
นางอังคณา กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเยียวยาผู้เสียหายทางการเมือง เมื่อมีตัวเลขออกมาสูงถึง 7.75 ล้านบาท ส่วนตัวไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะนำไปสู่ความปรองดองหรือเปล่า ผู้ได้รับผลกระทบมีหลายแบบ ทั้งจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง เสียหายจากการควบคุมของรัฐ และเสียหายจากผู้ก่อความไม่สงบ แต่รัฐบาลก็ไม่มีหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานออกมาชัดเจน ว่าจะเยียวยาแต่ละกลุ่มอย่างไร แล้วคนทั่วประเทศจะได้รับการเยียวยานี้ทั่วถึงหรือไม่ มีแต่ตัวเลขออกมาก่อน
นางอังคณา กล่าวอีกว่า เหตุการณ์สำคัญๆอย่าง ตากใบ กรือเซะ ไอร์ปาแย รัฐรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ แล้วกรณีคนถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ซึ่งเหตุเหล่านี้ถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการก่อความไม่สงบ รวมถึงกรณีประชาชนทั่วไปที่ต้องเสียชีวิตจากการที่รัฐไร้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองพวกเขา คนเหล่านี้รัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร
พอมีตัวเลข 7.75 ล้านบาทออกมา ทำให้ทุกคนนึกแต่ว่าต้องเท่าเทียมกัน ทุกคนไม่ยอมกันเลย ไม่สนใจเรื่องอื่น ในคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมด 8 คณะ อนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ คณะนี้สำคัญมาก ฝากไปถึงพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (เลขาฯ ศอ.บต.) ว่าคณะกรรมการนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องอธิบายให้ประชาชนในทุกจังหวัดเข้าใจ
นางอังคณา กล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลให้ใจกับการแก้ปัญหาภาคใต้มากแค่ไหน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯของวุฒิสภา เคยเชิญนายกฯมาเพื่อสอบถามถึงปัญหานายกฯก็ไม่มา แม้บางคนบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เราไม่ได้อยากถามท่านในฐานะเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อยากถามในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่น่าเสียดายท่านไม่มา
นางอังคณา ยังกล่าวว่า ขณะนี้ผู้เสียหาย มีคนมาบอกเป็นญาติเต็มไปหมด มีการเรียกผู้เสียหายไปประชุม โดยผู้นำศาสนาบ้าง นักการเมืองท้องถิ่นบ้าง หรือผู้นำชุมชน โดยบอกว่าจะช่วยทำเรื่องติดต่อขอเงินให้ และเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหาย ซึ่งแต่เดิมเงินเยียวยาแค่ 1 แสนบาท ก็มีเรียกเก็บค่าเดินเรื่องอยู่แล้ว แต่ถ้าได้เงินเยียวยามากกว่านี้คงยุ่งขึ้นอีก
อีกปัญหาสำคัญคือ หลายกรณีที่เกิดขึ้นมันคืออาชญากรรมปกติ แต่สิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะได้แค่ 1 แสนบาท ก็มีการร้องขอให้พิจารณาว่าเป็นเหตุความไม่สงบ เพื่อขอความเยียวยา แล้วถ้าตัวเลขมากขึ้น การกระทำแบบนี้คงมากขึ้นอีก แล้วก็เอาเงินไปแบ่งกัน ตัวเลขความสูญเสียจะมากขึ้น ข้อมูลจาก ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) บอกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบมี 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้มันเพิ่มขึ้น เพราะทุกฝ่ายต้องการเข้าถึงการเยียวยาหมด และเมื่อมีการขอร้องกันให้พิจารณาเป็นเหตุไม่ความสงบหมด คดีก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีการหาคนผิด มันน่าแปลกใจว่าพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ยาเสพติดเยอะมาก เรื่องอาชญากรรมปกติมันต้องมีเหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่ดันไม่เห็น
ด้าน นายอนุศาสตร์ กล่าวว่า ตัวเลข 7.75 ล้านบาท มาโดยตั้งตัวไม่ติด ทุกคนสับสนกันหมด ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมขึ้นมา เพราะขณะที่ภาคใต้ยังพิจารณาการเยียวยากันอยู่ แต่การเยียวยาเหตุการณ์ในกรุงเทพฯออกมาแล้ว โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ที่มาที่ไปของตัวเลขไม่มี
รัฐบาลชุดที่แล้วพยายามปรับเงินเยียวยาในส่วนของประชาชนจาก 1 แสนบาท ให้เป็น 5 แสนบาท เท่ากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งพอถึงรัฐบาลชุดนี้ เลขาฯศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็กำลังจะปรับ แต่แล้วก็มาสะดุดกับตัวเลข 7.75 ล้านบาท ตรงนี้รัฐบาลต้องอธิบายให้ละเอียดว่ากรุงเทพฯ กับภาคใต้ เยียวยาต่างกันอย่างไร
อีกทั้งเหตุการณ์รายวันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ครู เสียชีวิต คนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาอย่างไร จะเปรียบเทียบกับคนที่ได้ 7.75 ล้านบาทอย่างไร ถือว่าเงินตรงนี้สร้างปัญหามาก ไม่ได้สร้างความปรองดอง แต่สร้างความแตกแยก เป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดปัญหาความมั่นคงในอนาคต
นายอนุศาสตร์ กล่าวต่อว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน กรือเซะ ตากใบ แต่รัฐไม่เยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน มีการพูดคุยกันมากว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม มติคณะรัฐมนตรีทำผิดพลาด ไม่มีหลักเกณฑ์ เหมือนทำตามความพอใจ โดยไม่ได้คิดถึงผลข้างเคียง เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการสร้างความปรองดอง แต่ตัวเลขที่ออกมามันอธิบายไม่ได้