xs
xsm
sm
md
lg

“วิเชียร” เผย ถก สมช.นัดแรก เห็นชอบแผนไฟใต้ปี 55-57 - แก้ต่างด้าวเข้าเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.เวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
นายกฯ เรียกถก สมช.นัดแรก “วิเชียร” เผย ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายพัฒนาชายแดนใต้ 55-57 กำหนดกรอบทิศทางแก้ปัญหา มุ่งปลดเงื่อนไขความรุนแรง พร้อมแก้หลบหนีเข้าเมือง เน้นความมั่นคงควบหลักมนุษยชน ครอบคุลม 4 กลุ่ม ชง ครม.22 ก.พ.

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ครั้งที่ 1/2555 โดยมีสมาชิกสภามั่นคง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมการประชุม มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ

ภายหลังใช้เวลาในการประชุม 1.30 ชั่วโมง จากนั้น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.แถลงผลการประชุมว่า สมช.ได้เห็นชอบนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2555-2557) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยนโยบายฉบับนี้จะเป็นกรอบทิศทางหลักในการแก้ไขปัญหา ที่กำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต้องปรับปรุงแผนและแนวทางปฏิบัติ และกำหนดให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบาย รวมทั้งให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวต่อว่า กรอบแนวคิดดังกล่าวมุ่งปลดเงื่อนไขความรุนแรงในทุกระดับไปพร้อมกันอย่างประสานสอดคล้อง โดยดำเนินนโยบายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้โดยสันติวิธี

“นโยบ่ายได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการมุ่งให้พื้นที่มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง และมีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมเอื้อต่อการแสวงหาความทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ” เลขาฯ สมช.ระบุ

สำหรับเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบนั้น พล.ต.อ.วิเชียร เปิดเผยว่า จะเน้นการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยคำนึงถึงการรักษาความมั่นคงของชาติ ควบคู่กับการเคารพในหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ 1.ชนกลุ่มน้อย 2.แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามา 3.กลุ่มที่มีปัญหาความมั่นคงเฉพาะ เช่น ผู้หนีภัยจากการสู้รบในประเทศพม่า และ 4.กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองอื่นๆ ทั้งนี้ สมช.จะนำเสนอทั้ง 2 เรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 22 ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น