รายงานการเมือง
วันนี้ (9 มีนาคม) ที่ประชุมวุฒิสภา จะมีการประชุมลับเพื่อลงมติว่าจะถอดถอน นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกจากตำแหน่งหรือไม่
มติดังกล่าวที่จะทำให้ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา-อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับแต่งตั้งจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สมัยเป็นประธาน คมช.ที่ออกคำสั่ง คปค. ตั้งนายภักดีให้ร่วมเป็น 1 ใน 9 ป.ป.ช.ชุดนี้ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปีเต็ม
แต่ตอนนี้ สถานการณ์ของนายภักดีจะได้อยู่หรือต้องกระเด็นหลุดจากเก้าอี้ จะกลายเป็น ป.ป.ช.คนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่
เสียงของวุฒิสภาที่จะถอดถอนจะต้องใช้เสียง ส.ว.ถึง 3 ใน 4 หรือ 112 เสียงจากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 149 คน ที่ถือว่ามากพอสมควร
เชื่อว่าช่วงสายๆ วันที่ 9 มีนาคมก็น่าจะรู้ผลว่าคะแนนให้อยู่ต่อ ลอยลำ หรือคะแนนให้นายภักดีออกจากตำแหน่ง
หากผลออกมาเป็นแบบเฉียดฉิวให้ภักดีได้อยู่ต่อ ออกมาแบบนี้จะมีผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในการสอบสวนเอาผิดกับนักการเมือง-ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชัน แต่คนของ ป.ป.ช.กลับเกือบต้องหลุดจากตำแหน่ง จากกรณีถุกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็น ป.ป.ช.
คะแนนจะออกมาแบบไหน เชื่อว่าแม้ภักดีจะมั่นใจลึกๆ ว่าเคลียร์ข้อกล่าวหาทั้งหมดได้ แต่ก็คงต้องลุ้นหนักไม่ใช่น้อย
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ หากสืบสาวราวเรื่องดูกันให้ดีๆ ก็จะพบว่าเป็นเรื่องการเมืองแน่นอน โดยเฉพาะการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลกับองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.ที่ไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่
คือเริ่มมาจากการที่ 129 ส.ส.เพื่อไทย เข้าชื่อกันยื่นเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน ภักดี ออกจากตำแหน่งตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 248 ที่เขียนไว้ว่า
“ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฏร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาว่ากรรมการ ป.ป.ช.ผู้ใดกระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือมีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง”
ซึ่งแกนนำในการเดินเรื่องทั้งหมดก็คือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที และส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่นำรายชื่อ ส.ส. 129 คน ยื่นคำร้องขอให้วุฒิสภามีมติให้ภักดีพ้นจากตำแหน่ง
ด้วยข้อหาว่าเมื่อ พล.อ.สนธิ ตั้ง ภักดี เป็น 1 ใน 9 ป.ป.ช.ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 แต่ ภักดีกลับไม่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ไทยวัฒนาฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด จึงกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 11 (3) ที่ห้ามกรรมการ ป.ป.ช.ไปมีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ทำธุรกิจเพื่อมุ่งหากำไร อีกทั้งการที่ ภักดี รับตำแหน่งประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีร้องเรียนการทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุขตามมติที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. ทั้งที่ตัวภักดีเคยมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการดังกล่าวสมัยรับราชการที่กระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นสิ่งไม่สมควรและขัดต่อระเบียบ ป.ป.ช.
ที่บอกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ก็เพราะการสอบสวนเรื่องการทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ ป.ป.ช. เป็นการสอบที่ย้อนหลังไปในสมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย และ “เจ๊หน่อย” ก็คือผู้ผลักดันให้ น.อ.อนุดิษฐ์ ได้ตำแหนง รมว.ไอซีที ในโควตา กทม.ของเพื่อไทย
การยื่นเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอนภักดี ทำให้ไม่ใช่แค่ตัวภักดีเท่านั้น แต่หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นเรื่องการเมือง-การดิสเครดิตฝ่าย ป.ป.ช.
เมื่อโดนแบบนี้ ภักดี ก็สู้ตายเช่นกัน ไม่ยอมโดนไล่ต้อนง่ายๆ เห็นได้จากการพยายามงัดเอกสารหลักฐานรวมถึงพยานบุคคลต่างๆ มาลบล้างคำร้องดังกล่าวของ ส.ส.เพื่อไทย
ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาจะเชื่อน้ำหนัก-คำชี้แจงของฝ่ายผู้ร้องคือ น.อ.อนุดิษฐ์ หรือฝ่ายผู้ถูกร้องคือภักดี
เพราะทั้งสองฝ่ายหักล้าง-เฉือนคมกันเต็มที่ ดูได้จากวันที่วุฒิสภาให้ทั้งสองฝ่าย คือ น.อ.อนุดิษฐ์มาทำการแถลงปิดคำร้องและให้ ภักดี มาแถลงโต้คำร้อง เมื่อ 6 มีนาคม 2555 ที่ดุเดือดอย่างมาก
ถึงขั้น ภักดีบอกกลางที่ประชุมวุฒิสภา ขณะแถลงคำโต้แย้งว่า นี่คือแผนการที่ต้องการจะทำลายองค์กร ป.ป.ช.รวมถึงหวังผลล้มการสอบสวนคดีทุจริตคอมพ์พิวเตอร์ของ ป.ป.ช.ที่พัวพันถึงผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองบางคน ทั้งที่ข้อกล่าวหาทุกข้อไม่เป็นความจริง แต่กลับใช้เอกสารที่ไม่ถูกต้องมาเป็นพยานหลักฐานในการยื่นคำร้อง
ส่วนบรรยากาศนอกห้องประชุมและในห้องประชุมวันดังกล่าวก็ร้อนแรงพอกัน เหมือนกับมีการตั้งป้อมกันไว้แล้ว ระหว่างฝ่ายที่ยืนข้างภักดี กับฝายที่หนุนหลังกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย
เช่น การเปิดเผยกลางที่ประชุมว่ามีการล็อบบี้ให้พา ส.ว.ไปกินข้าวบ้านพยานฝั่งผู้ร้องด้วย ดูแล้วพฤติการณ์เหมือนกับจะขอคะแนนเสียงให้โหวตถอดถอน ภักดี อย่างใดอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม หาก ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นว่าภักดีแจงข้อกล่าวหาไม่ขึ้น พยานหลักฐานแย้งฝ่ายผู้ร้องไม่ได้ แล้วยังไปลงมติ ช่วยกันไว้ ก็คงไม่เป็นผลดีกับวุฒิสภาเช่นกัน แม้จะเป็นการลงมติ ลับ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม คนหนึ่งที่คงลุ้นหนักไม่แพ้ภักดี ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณหญิงสุดารัตน์
หลังมีการพูดกันไปทั่วตึกวุฒิสภาและสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า อนุดิษฐ์ที่ยื่นคำร้องครั้งนี้ เป็นผู้ร้องนอมินีให้กับใครบางคน ซึ่งทุกคนรู้ว่าคือใคร?