xs
xsm
sm
md
lg

31 ม.ค.ชี้ชะตาถอด “ภักดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน กรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีและสารสนเทศ ยื่นคำร้องให้วุฒิสภามีมติให้ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 248 หลังจากพบว่า นายภักดีนั้นกระทำการที่ขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในการทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข

โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการแถลงเปิดคำร้องของ น.อ.อนุดิษฐ์ ในฐานะผู้ร้อง และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำเปิดคำร้องของนายภักดี ซึ่งน.อ.อนุดิษฐ แถลงเปิดคำร้องว่า ในกรณีดังกล่าวปรากฎเป็นพยานหลักฐาน ที่พิสูจน์ได้ว่านายภักดีได้ทำผิดกฎหมายชัดเจน ได้แก่ 1.นายภักดีมีพฤติกรรมขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) มาตรา 11 (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดองค์กรธุรกิจ แต่ขณะนี้นั้นนายภักดีได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ไทยวัฒนาฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเมื่อวันที่ 5 ต.ค.49 นายภักดีจะลงประกาศในหนังสือพิมพ์เพื่อแสดงเจตนาลาออกจากการดำรงตำแหน่งแล้ว แต่ตามกฎหมายยังถือว่าไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญาความเพ่งและพาณิชย์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 15 ก.พ.49 กำหนดไว้ว่าการลาออกจากบริษัท หรือองค์กรธุรกิจใจจำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงจะมีผลตามกฎหมาย นอกจากนั้นประกาศของ คปค. ฉบับที่ 19 เรื่องแต่งตั้ง ป.ป.ช. ได้ประกาศชัดเจนให้คณะ ป.ป.ช. ลาออกภายใน 15 วันหลังจากที่รับการแต่งตั้ง หากไม่ทำถือว่าให้พ้นจากตำแหน่ง
2.นายภักดี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุข จงใจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 46 ที่ระบุไม่ให้บุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหามาก่อนมาเป็นกรรมการไต่สวน กล่าวคือ นายภักดีเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่เป็นหน่วยงานจัดซื้อคอมพิวเตอร์ โดยนายภักดี มีหน้าที่จัดทำทีโออาร์ และรวมถึงเคยทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ด้วย และ 3.นายภักดี ปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา อาทิ มาตรา 3 การปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มาตรา 39 วรรคสอง ที่ระบุในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด มาตรา 40 (3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรมรวมไปถึงมาตรา 46 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ด้วย

ต่อมา นายภักดี ได้แถลงโต้แย้งว่า ตลอดที่รับราชการมานานกว่า 32 ปี ตนไม่เคยถูกสอบสวนทางวินัย ซึ่งเป็นเครื่องที่ชี้ให้เห็นว่าตนปฏิบัติหน้าที่ในกรอบคุณธรรมและจริยธรรม และตนไม่มีพฤติกรรมใดๆ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา ขอแถลงโต้แย้ง สรุป 3 ประเด็นคือ 1. กรณีดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทไทยวัฒนาฯ ตนขอชี้แจงว่าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ต่อองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.49 และได้นำส่งเอกสารทางไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.49 และเหตุที่ต้องยื่นใบลาออกผ่านทาง อภ. เพราะตำแหน่งดังกล่าวนั้น เป็นการมอบหมายให้ตนเข้าไปดำรงตำแหน่ง โดยไม่มีการร้องขอ อย่างไรก็ตามนับจากที่ตนได้รับการแต่งตั้งจนถึงวันลาออก ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมในบริษัทดังกล่าว เพราะทราบว่าบริษัทนั้นมีปัญหาด้านธุรกิจและภายหลังถูกฟ้องล้มละลาย

“ดังนั้นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวหาผมเป็นกรรมการบริษัทไทยวัฒนาฯจึงไม่มีมูล ขอให้ ส.ว.ได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรมว่า หากท่านได้รับความไว้วางให้เป็น ส.ว.หรือตำแหน่งอื่นใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องลาออกจากบริษัทเอกสาร กรณีแสดงเจตนาลาออกไม่ว่าด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่บริษัทเอกชนนั้นกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ และยังมีชื่อของท่านปรากฎอยู่ หาใช่เป็นความผิดของท่านหรือไม่ ผมก็เช่นเดียวกันที่ได้ลาออกแล้ว แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ซึ่งในบริษัทดังกล่าวพบด้วยว่ามีกรรมการหลายคนได้ยื่นใบลาออก แต่ทางบริษัทไม่ได้สนใจเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียน”นายภักดี ชี้แจง

นายภักดี ชี้แจงต่อว่า 2.กรณีที่ผู้ร้องระบุว่า ตนรับเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนโดยไม่ชอบตามกฎหมาย เพราะรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อนนั้น เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้ตนสอบสวนคดีทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 50 ก่อนที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะร้องคัดค้าน แต่ภายหลังเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ ได้ยื่นร้องคัดค้านเมื่อช่วงกลางปี 54 เพื่อความสบายใจ ป.ป.ช.จึงพิจารณาซ้ำ

“การทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนคดีดังกล่าว ทางกฎหมายไม่ถือว่าผมมีส่วนรู้เห็น ตามนัยยะกฎหมายป.ป.ช. เพราะ 1. กรรมการ ป.ป.ช.ได้แบ่งหน้าที่และกำหนดขอบเขตรับผิดชอบงานของ ป.ป.ช.แต่ละคนไว้ล่วงหน้า และที่ผมได้รับภาระงานเรื่องนี้เพราะมีประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยววกับงานสาธารณสุข 2.ที่ระบุว่าผมเคยทำหน้าที่ประธานกรรมการไต่สวนการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ช่วงที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่ตนขัดขืนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มสอบสวนในรายละเอียดผมได้ลาออกก่อน จึงมีเพียงการเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบคำสั่งแต่งตั้งและการวางกรอบการสอบสวนเท่านั้น รวมระยะเวลาที่เกี่ยวข้องเพียง 1 เดือนเท่านั้น สำหรับที่ว่าผมเป็นคณะจัดทำร่างทีโออาร์ซื้อคอมพิวเตอร์ จึงเข้าข่ายรู้เห็นนั้น จากการพิจารณาของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่จำนวน 3 ครั้ง แล้วพบว่าผมไม่ได้มีคุณสมบัติต้องห้าม” นายภักดี ชี้แจง

นายภักดี ชี้แจงด้วยว่า หลังจากที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องให้วุฒิสภา พิจารณากรณีของตนนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย ตนได้ถอนตัวออกจากคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวแล้ว และแสดงเจตจำนงค์จะไม่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวอีก ซึ่งที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. จึงมีมติรับเรื่องไต่สวนแบบเต็มองคณะ และใช้ผลการไต่สวนของคณะอนุกรมการเป็นสำนวนหลัก อย่างไรก็ตามผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการ ไม่ถือว่ามีผลในการชี้นำผลการสอบสวนคดี

ประการที่ 3.กรณีกล่าวหาว่าการทำหน้าที่อนุกรรมกการไต่สวน ไม่เที่ยงธรรม โดยผู้ร้องอ้างจากคำในสำนวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนนั้น ถือว่าเข้าข่ายที่นำความลับทางราชการมาเปิดเผย และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 120 ที่ระบุว่าผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูล ที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยมิได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการหรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเพื่อประโยชน์ แก่ทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะถือว่าเป็นความผิด ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดี ฐานนำความลับทางราชการมาเปิดเผย ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลที่ผู้ร้องนำมาประกอบการพิจารณานี้ไม่ได้มีพยานยืนยันจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ และมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ขอยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามระเบียบปฏิบัติทุกประการ

ทั้งนี้ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไป จะมีการนัดหมายให้มีรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยกำหนดนัดฟังพยานเพิ่มเติมในวันที่ 20 ม.ค. จากนั้นจะนัดประชุมเพื่อฟังการซักถามผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยทำผ่านคณะกรรมาธิการซักถามที่ตั้งโดยวุฒิสภาจำนวน 7 คน จะรวบรวมประเด็นคำถามที่สมาชิกต้องการทราบเพิ่มเติม โดยนัดให้มีการซักถามเพิ่มเติมในวันที่ 31 ม.ค. จากนั้นจึงนัดวันลงมติให้กรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น