xs
xsm
sm
md
lg

แผนป้องกันน้ำท่วม (for Japanese only) คนไทยจะอยู่ที่ไหน ก็เดือดร้อนเท่าเที่ยมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ  ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีนายศรีสุวรรณ  จรรยา  เป็นนายกสมาคม  กลายเป็นผู้ร้ายอีกครั้งในสายตาของกลุ่มทุน สื่อมวลชนบางส่วน และประชาชนบางกลุ่ม  เมื่อเป็นตัวแทน รับมอบอำนาจจากประชาชน 39  ราย ที่อาศัยอยู่รอบๆนิคมอุคสาหกรรม 11 แห่ง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ มีคำสั่งระงับ  เพิกถอน การสร้างเขื่อนหรือพนังกันน้ำท่วมนิคมทั้ง 11 แห่ง

เพราะการสร้างเขื่อนรอบ  ๆนิคม หากเกิดน้ำท่วม  ชุมชนที่อยู่โดยรอบจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  และการสร้างเขื่อนนี้  รัฐบาล   ทำโดยพลการ  ไม่มีการปรึกษาหารือ รับฟังความเห็นจากประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550  หลายมาตรา  และกฎหมายอื่นๆหลายฉบับ ที่คุ้มครองสิทธิของชุมชน  ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน

หากศาลปกครอง รับคำร้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการสร้างเขื่อนไว้ก่อน   นายศรีสุวรรณ ก็จะต้องถูกกล่าวหาว่า  เป็นตัวการทำให้น้ำท่วมประเทศไทยในปีนี้แน่นอน  จากรัฐบาล  กลุ่มทุนบางส่วน  สื่อบางกลุ่ม  เพราะดูเหมือนคนเหล่านี้ จะลืมไปแล้วว่า  น้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว  มีคนไทย 60 กว่าจังหวัด คิดเป็น 3.5  ล้านครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน  มีคนตาย 800  กว่าคน    ผู้ที่ได้รับความเสียหายไม่ใช่มีแต่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 11 แห่งเท่านั้น
 

แต่แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนกแก้ว ให้ความสำคัญกับ นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่งนี้  เพียงกลุ่มเดียว  เพราะหากนักลงทุนเหล่านี้ ถอนการลงทุน  หรือไม่ลงทุนเพิ่ม จะกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจไทย  ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังสถานภาพของรัฐบาลทันที
 

คนไทยนั้นหลอกง่าย  แต่นักลงทุนต่างชาตินั้น  หลอกไม่ได้ ดังนั้น  แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จึงมุ่งสร้างความพึงพอใจให้นักลงทุนญี่ปุ่น  โดยไม่สนใจว่า  การสร้างเขื่อนรอบนิคม  หากเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง  น้ำจะไหลไปไหน   จะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อยู่รอบนิคมอย่างใด
 

ในขณะที่คนไทยที่ถูกน้ำท่วมได้รับเงินช่วยเหลือกจากรัฐบาลครอบครัวละ 5,000  บาท  หากต้องกู้เงินมาซ่อมแซมบ้านเรือ  หรือนำมาปรับปรุงธุรกิจที่เสียหายต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราขั้นสูงสุดตามประกาศของธนาคาร เช่น ธนาคารออมสิน  ต้องเสีย ดอกเบี้ย ร้อยละ 7  แต่การสร้างเขื่อนกั้นนิคม รัฐบาลเอาเงินซึ่งเป็นภาษีของประชาชนไปสร้างให้ฟรี  2 ใน 3  อีก  1 ใน3  ธนาคารออมสิน ให้กู้แบบ จะเรียกว่าไม่มีดอกเบี้ยก็ได้  เพราะคิดดอกเบี้ยพอเป็นพิธีไม่ให้ผิดระเบีย  ไม่ถึงเฟื้องด้วยซ้ำ คือ คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01    โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นถึง 5 ปี และให้กู้นานถึง15  ปี

ทำไมคนไทยที่บ้านถูกน้ำท่วม รถจมน้ำ จึงไม่ได้รับความเอื้ออาทรเช่นนี้ จากรัฐบาลเหมือนนักลงทุนญี่ปุ่นบ้าง ขอแค่ครึ่งหนึ่งที่ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นก็ยังดี 
 

การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม  เป็นหนึ่งในวิธีการแก้น้ำท่วมที่เน้นการก่อสร้างถาวรวัตถุ ด้วยงบประมาณมหาศาล  แต่ไม่มีแผนการบริหารจัดการเลย   รัฐบาลตอบคำถามชุมชมรอบๆนิคมได้ไหมว่าจะระบายน้ำที่ถูกเขื่อนรอบๆนิคมฯกั้นไว้อย่างไร เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า  ที่ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก การแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบใข้เงินนำหน้าสติปัญญา ไม่ได้มีแต่คนที่อยู่รอบๆนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น  ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่อยู่ในพื้นที่ทีทีมีข่าวว่า จะเป็นเส้นทางรับน้ำ หรือระบายน้ำ  ซึ่งกำลังหวาดวิตกและสับสนว่าบ้านเรือนของตนจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ เพราะจนป่านนี้  รัฐบาลยังไม่มีคำตอบวที่ขัดเจน เป็นทางการว่า ตรงไหนบ้าง ที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ  ถามทีไร  นายกฯนกแก้วก็เอาตัวรอดด้วยคำตอบเดิมๆว่า ขอเก็บเป็นความลับก่อน 

ในขณะที่บางพื้นที่ที่มีข่าวว่า จะถูกใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำหรือฟลัดเวย์ สู่ทะเล ถูกประชาชนในพื้นทีตอกกลับว่า  คนวางแผน กำหนดเส้นทางเดินของน้ำ มั่ว ไม่รู้พืน้ที่จริง หลับหูหลับตาขีดเส้นลงในแผนที่   กรณีที่ชัดเจนคือ   แนวทางที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบ บริหารจัดการทรัพยาการน้ำ หรือ กยน. กำหนดทิศทางผันน้ำออกมาทางอำเภอกำแพงแสน นครชัยศรี และบางเลน  ของจังหวัดนครปฐม   เพื่อให้น้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน  ซึ่งคนที่อยู่กับแม่น้ำท่าจีนมาทั้งชีวิต บอกว่า  เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดหลักธรรมชาติ  เป็นการผันน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง และน่ากลัวว่า รัฐบาลอาจจะเอาไม่อยู่ ทำให้ชาวนครปฐมต้องเดือดร้อนทั้งจังหวัด   

นายไพศาล ปราการรัตน์ อดีตกำนันตำบลบางกระเบา อ.นครชัยศรี   ถามรัฐบาลว่า  คิดดีแล้วหรือที่จะผันน้ำลุ่มเจ้าพระยามาให้คนนครปฐมแบกรับ   รัฐบาลเคยถามชาวจังหวัดนครปฐมบ้างหรือไม่ว่า รู้สึกอย่างไร  วันนี้ อ.บางเลน และ อ.ศาลายา หลายพื้นที่ยังน้ำท่วมอยู่ น้ำยังไม่ลด การเยียวยายังไม่ทั่วถึง รัฐบาลก็ยังคิดจะให้ชาวบ้านรับกรรมเพิ่มอีก ด้วยการผันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยามาซ้ำเติม  อยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องพื้นที่ฟลัดเวย์ใหม่ เอาพระราชดำรัสของในหลวงมาศึกษาให้ละเอียด แล้วจะรู้ว่าการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ไม่ใช่การบริหารจัดการน้ำ โดยเอาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวตั้ง
ต้นเดือน มีนาคมนี้ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จะจัดประชุมประชาคม คนนครปฐม ระดมความเห็นต่อแผนบริหารจัดการน้ำของ กยน. เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่

ในขณะที่คนกลางน้ำ คนปลายน้ำ ลุกขึ้นมาป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกรัฐบาลกดให้จมอยุ่ใต้น้ำ ด้วยแผนบริหารจัดการแบบมั่วๆ  คนต้นน้ำก็กำลังหวาดวิตกกับ แผนการจัดการน้ำแบบเอาตัวรอดไว้ก่อน ด้วยการระบายน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุด เพราะหากปีนีฝนไม่มาก  พายุไม่เยอะ อย่างที่คาดการณ์ไว้   เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ฯลฯ  ที่ต้องใช้น้ำจากเขื่อนทำนา จะต้องเจอปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งดูแลเขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ รู้ดีกว่าใครว่า จะเกิดอะไรขึ้น  ปีที่แล้ว โดนด่าว่า เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะไม่ปล่อยน้ำแต่เนิ่นๆ  จนน้ำเกือบล้นเขื่อน  จึงปล่อยโครมเดียว วันละ 100  ล้านลูกบาศก์เมตร  ปีนี้ กลัวโดนด่าว่า เป็นต้นเหตุให้เกิดภัยแล้ง    จึงรีบออกตัว ประกาศแต่เนิ่นๆให้รุ้ทั่วกันว่า  คนที่สั่งปล่อยน้ำคือ  นายกฯนกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 

นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล ฝ่ายบริหาร เปิดเผยระหว่างการประชุมผู้ใช้น้ำ ในลุ่มน้ำปิง จากจังหวัดตาก กำแพงเพชร  นครสวรรค์ ว่า   เขื่อนภูมิพลบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ระบายน้ำวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกวัน จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2555 โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จะต้องมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45% ของความจุอ่างเก็บน้ำ เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะมาต้นฤดูฝนนี้
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีข้อกังวลว่า ถ้าหากปีนี้แล้ง ในปีหน้าก็จะเกิดปัญหาการขาดน้ำอีก บางพื้นที่ก็จะลำบากมาก เช่น อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ขอให้ผู้ใช้น้ำทุกคนใช้น้ำอย่างเห็นอกเห็นใจกัน ในส่วนของพื้นที่ทำกินจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ทำกินมาก ใช้น้ำมากที่สุด และใช้ก่อนใคร ก่อนที่จะใช้น้ำก็ให้คิดถึงคนท้ายน้ำว่า เขาก็ต้องการน้ำเหมือนกัน ดังนั้นจะต้องร่วมมือกันแบ่งปันน้ำกันใช้

คนไทยไม่ใช่นักลงทุนญี่ปุ่น  ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง  คนต้นน้ำ  กลางน้ำ  ปลายน้ำ จึงต้องพึ่งตัวเอง ในการเอาตัวให้รอดจากแผนป้องกันน้ำท่วม  ที่ให้ความสำคัญกับการใข้เงินมากกว่า การบริหารจัดการ
กำลังโหลดความคิดเห็น