นายกฯ ให้คำมั่นหลังคุยภาคอุสาหกรรม ยันผู้ประกอบการ ไม่ย้ายฐานการผลิตหนีน้ำท่วมระลอกสองแน่ พร้อมหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างแนวผนังกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม หวังสร้างความเชื่อมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่นเดือน มี.ค.นี้
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกับภาคประกอบการอุตสาหกรรม ว่า ผู้ประกอบการที่มาร่วมประชุม มีทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และตัวเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตนได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงทางด้านนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่เรื่องของแผนในการชะลอน้ำ การบริหารพื้นที่น้ำตอนบน และการบริหารพื้นที่ตอนกลางจะบริหารจัดการด้วยการหาพื้นที่รับน้ำ สำหรับส่วนของตัวนิคมภาครัฐมีนโยบายให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับทางนิคมเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสร้างแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งเบื้องต้นตัวนิคมอุตสาหกรรมได้มีแผน และมีการเตรียมงานในการที่จะทำแนวผนังกั้นน้ำอย่างแข็งแรง ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐมีนโยบายทำผนังกั้นน้ำรอบเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นจุดหลักที่มีทั้งโบราณสถาน และโรงงานนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในที่นี้ซึ่งตนได้ชี้แจงแผนนี้ด้วย ส่วนเรื่องของถนนมีการยกระดับถนนขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ผนังกั้นน้ำ ขณะเดียวกันใช้เป็นเส้นทางขนส่งซึ่งตรงนี้ภาคนิคม และโรงงานอุตสาหกรรมมีความกังวล และการชี้แจงไปของเราเบื้องต้นได้เห็นความมั่นใจและเกิดความสบายใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคอุตสาหกรรมยืนยันจะลงทุนต่อใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้รับเสียงตอบรับยืนยันที่จะอยู่ และทางไจก้าเองได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและแหล่งเงินทุน สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ภาครัฐสนับสนุนจะมีหลายโครงการ ซึ่งต้องคุยรายละเอียดต่อไป
เมื่อถามว่า คำว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ภาคอุตสาหกรรมมั่นใจรัฐบาลขนาดไหนในการป้องกันน้ำท่วมรอบนี้ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ ขอเรียนว่า เราต้องใช้เวลาในการชี้แจงมากขึ้นถามว่ามั่นใจมากขึ้นหรือไม่ จากวันนี้เท่าที่ดู เชื่อว่า โรงงานอุตสาหกรรมยังอยู่กับเรา แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะต้องลงทุนเพิ่มก็จะต้องมีมาตรการในส่วนของบีโอไอ และขยายในส่วนของการช่วยเหลือให้แล้ว ทั้งนี้เดือนมีนาคม ตนจะอาศัยเวทีนี้ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะไปสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนความคืบหน้าในเรื่องของการก่อสร้างแก่งเสือเต้นนั้น นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบ โดยให้เหตุผลว่า ขอเอาเรื่องรับน้ำก่อน ซึ่งเวลานี้พื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เสนอนั้น ตอนนี้ยังได้ไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้