xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนญี่ปุ่น ชั่งใจลงทุนไทย ร้องรัฐฯ ชดเชยค่าแรงงาน 25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพนิคมอุตสาหกรรมหลังโดนน้ำท่วมหนักนานนับเดือน
นักลงทุนญี่ปุ่นชะลอการลงทุน จี้ช่วยจ่ายค่าจ้าง 25% อุ้มแรงงาน หลังต้องหยุดผลิตยาว 3 เดือน พร้อมชะลอการลงทุนมูลค่า 3,000 ล้าน เร่งสร้างคันกั้นน้ำถาวร ปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุน ด้านสมาคมนิคมฯ ขอเงินกู้รัฐ 10,000 ล้านปล่อยให้โรงงานในนิคมฯ ถูกน้ำท่วม 7 แห่ง

นายคัตซึยูกิ คูนิคาตะ รองประธานอาวุโส บริษัท นิปปอน ซุปเปอร์ พรีซิชั่น จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม บริษัทไม่มีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนมาก ต้องรอดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลก่อนว่าจะมีการสร้างแนวคันกั้นน้ำถาวรให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอย่างไร ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้ชะลอการลงทุนไว้ก่อน จากเดิมที่จะขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนเพิ่มอีก 20% เพราะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลก่อน ขณะที่การลงทุนของบริษัทมีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท

“จากเหตุการณ์น้ำท่วม ที่ผ่านมาส่งผลให้โรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยมีเครื่องจักรที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จมน้ำกว่า 1,000 เครื่อง ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือนในการซ่อมแซมเพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 180 ล้านบาทต่อเดือน หรือผลิตชิ้นส่วนราว 1,200-1,300 ชิ้นต่อเดือน โดยป้อนตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% โดยต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมให้เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำร้อยเหมือนปีนี้ เพราะขณะนี้บริษัทเองก็ได้ชะลอการลงทุนออกไปจากเดิม” นายคัตซึยูกิ กล่าว

นอกจากนี้ในช่วงที่บริษัทไม่สามารถทำการผลิตได้ จึงลดการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานกว่า 1,000 คน ในอัตรา 75% ตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาจ่าย 100% และบริษัทจะจ่ายค่าแรงในอัตรา 75% ต่อไปจนกว่าบริษัทจะกลับมาผลิตได้ราวเดือน ม.ค.-ก.พ.2555 นี้ จึงต้องการให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือแรงงานโดยจ่ายส่วนต่างที่เหลือ 25% ให้กับแรงงานด้วย ในส่วนของโรงงานก็ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการใช้ในการฟื้นฟูกิจการ

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมหกรรมไทย กล่าวว่า เตรียมเสนอให้รัฐบาลหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อแก่โรงงาน 900 กว่ารายที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากมาตรการให้สินเชื่อวงเงิน 130,000 ล้านบาท ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะให้เฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก ซึ่งโรงงานในนิคมฯ ส่วนใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น