xs
xsm
sm
md
lg

ทุนญี่ปุ่นขู่ย้ายฐานหนีไทยจี้รัฐแก้ปัญหาน้ำท่วมถาวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นักลงทุนญี่ปุ่นให้โอกาสรัฐบาลไทยบริหารจัดการน้ำปี 2555 หากท่วมซ้ำอีกจ่อย้ายฐานการผลิตแน่ นิคมฯบางปะอินควัก 700 ล้านบาทเสริมคันดินเก่าให้แข็งแรง และสร้างเขื่อนคอนกรีตผสมดินถาวรคาด 2 ปีเสร็จ ช.การช่างนำทัพดำเนินการ “ปลิว”ลั่นพร้อมชิงเค้ก 5-6 หมื่นล้านจากการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคหลังน้ำท่วมที่คาดว่าจะมีกว่าแสนล้านบาท ปลัดคลังเดินสายแจงหลังประกันต่างชาติรับประกันภัยต่อน้ำท่วมแค่ 10% เท่านั้น รับเอกชนไทยต้องช่วยตัวเองไปก่อนระยะหนึ่ง ยันคลังไม่ค้ำประกันให้แน่ เหตุต้องกู้เงินเยอะแล้ว

นายคัตซึยูกิ คูนิคาตะ รองประธานอาวุโส บริษัท นิปปอน ซุปเปอร์ พรีซิชั่น จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าวว่า
บริษัทลงทุนในนิคมฯบางปะอิน 3,000 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 1,000 คน เดิมวางแผนจะขยายกำลังผลิตอีก 20% จากที่ผลิตปัจจุบัน 1,200-1,300 ชิ้นต่อเดือนก็ต้องชะลอไว้จนกว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนที่จะป้องกันน้ำท่วมในอนาคตที่ชัดเจน โดยหวังว่าปี 2555น้ำจะไม่ท่วมอีก

“ ที่ผ่านไม่ขอพูดถึงเพราะไม่เคยเจอ แต่พอใจที่น้ำลดลงเร็วมากเราก็หวังว่าทุกส่วนจะมีแผนป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ดังนั้นการขยายการลงทุนใหม่จึงยังก้ำกึ่ง เราขอดูแผนของไทยก่อนหากน้ำท่วมปีหน้าเราคงตัดสินใจได้”นายคัตซึยูกิกล่าว

ทั้งนี้ น้ำท่วมส่งผลกระทบให้โรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยมีเครื่องจักรที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จมน้ำกว่า 1,000 เครื่อง ซึ่งคาดว่าใช้เวลา2-3 เดือนในการซ่อมแซมเพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ โดยบริษัทได้รักษาแรงงานไว้ล่าสุดจ่ายเงินให้ 75% ตามกฎหมาย จากเดือนตุลาคมที่จ่าย 100% จึงต้องการให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือแรงงานโดยจ่ายส่วนต่างที่เหลือ 25%ให้กับแรงงานด้วย

นายสุขุม ศรีโสภณางกูร ประธานกรรมการบริษัท โคคุโปะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งยี่ห้อ Rock -Ice แห่งเดียวในไทย แต่น้ำท่วมนิคมฯบางปะอินต้องหยุดกิจการชั่วคราว ขณะนี้กำลังรอประเมินความเสียหายเครื่องจักรระหว่างนี้จึงจะมีการนำเข้ามาจากญี่ปุ่น 1 ล้านถุงมาขายในราคาเดิมก่อนคาดว่าจะมาได้ไม่เกิน 20 ธ.ค.นี้

“ นักลงทุนส่วนใหญ่ในบางปะอิน ได้คุยกันแล้วส่วนใหญ่นักลงทุนญี่ปุ่นยังมองไทย เพราะชอบนิสัยคนไทยเป็นมิตรแต่หากรัฐบาลไทยไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำและทำให้น้ำท่วมอีกปี 2555 เขาก็คงจะต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและส่วนใหญ่ที่ย้ายได้เร็วจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน เพราะเครื่องจักรถอดประกอบได้”นายสุขุมกล่าว

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้รับจ้างจากบริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนานิคมฯบางปะอินในจ.อยุธยาในการเข้าไปฟื้นฟูนิคมฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท โดยแยกเป็น100 ล้านบาทในช่วงน้ำท่วม และหลังน้ำลดอีก 100 ล้านบาทเพื่อเสริมคันดินเก่าให้แข็งแรงและที่เหลือ 500ล้านบาทสำหรับการลงทุนสร้างเขื่อนคอนกรีตผสมดินล้อมรอบนิคมฯถาวรระยะทาง 11 กิโลเมตร โดยจะเพิ่มความสูงเป็น 5 เมตรจากระดับพื้นที่ดินและฝังลงใต้ดิน 1.5 เมตรซึ่งส่วนนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินงาน 2 ปีเสร็จ

“ เราก็มั่นใจว่าความสูงของเขื่อนใหม่จะรับมือกับน้ำท่วมได้ เพราะเราหวังว่ารัฐบาลต้องทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำภายนอกนิคมฯใหม่ เพราะครั้งนี้กักน้ำไว้มากเลยมาอยุธยามากไป”นายปลิวกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังน้ำท่วมจะมีการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคต่างๆทั้งซ่อมแซมถนน นิคมฯ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเกินกว่า 100,000 ล้านบาท โดยช.การช่าง เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย มีความสามารถในการรับงานได้ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็เป็นผู้รับเหมาอื่นๆ

***มั่นใจก่อนปีใหม่ทุกนิคมฯเดินเครื่องผลิต

น.ส.ลักขณา เมี้ยนกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าวว่า วันนี้ (21 ) พนักงานในโรงงานต่างๆ ที่นิคมฯบางปะอินมารวมตัว 2,000 คน เพื่อกิจกรรมรวมพลังงานคืนพื้นที่นิคมฯบางปะอิน ( Back to Industrial in Thailand Big Cleaning Day ) โดยคาดว่าภายในธ.ค.โรงงานในนิคมฯบางปะอินบางส่วนจะกลับมาผลิตได้และจะทยอยผลิตได้ครบไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าหรือราวม.ค.55 ซึ่งมีโรงงาน90โรง มูลค่าเงินลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟู จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในส่วนของนิคมอุตฯอื่นๆกำลังเร่งสูบน้ำออกเช่นกัน และในวันที่ 25 พ.ย.นี้ จะมีการทำบิ๊กคลีนที่นิคมอุตฯโรจนะ ต่อไป คาดว่าจะเปิดกิจการได้อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธ.ค. และมั่นใจว่า นิคมอุตฯทั้งหมด น่าจะกลับมาเปิดดำเนินการผลิตได้ก่อนปีใหม่

***คลังแจงบ.ประกันนอกรับประกันน้ำท่วมเพิ่้ม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยว่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะร่วมเดินทางกับคณะของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูสำหรับสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ไปประเทศอังกฤษ จากนั้นในสัปดาห์หน้าจะไปต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินสายชี้แจงแนวทางป้องกันภัยน้ำท่วมของไทยให้บริษัทรับประกันภัยต่อ(รีอินชัวร์รันส์) เพื่อสร้างความมั่นใจ หลังจากที่รีอินชัวร์รันส์แจ้งว่าปีหน้าจะรับประกันฯ ภัยน้ำท่วม 10% เท่านั้น และมีแนวโน้มว่าเบี้ยประกันภัยต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยเร็วที่สุด แต่เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา คือ ทำอย่างไรให้กระบวนการรีอินชัวร์รันส์เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่บริษัทรีอินชัวร์รันส์แจ้งว่า จะรับประกันฯ ภัยน้ำท่วมเพียง 10% ขณะที่ภัยไฟไหม้และแผ่นดินไหวยังรับฯ 100% เหมือนเดิม ดังนั้นอีก 90% เจ้าของกิจการต่าง ๆ ต้องดูแลตัวเองไปก่อน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จะยิ่งเสียหายหนักในอนาคต จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น โดยชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะการให้วงเงิน 15,000 ล้านบาทดอกเบี้ยต่ำในการให้นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ กู้ไปสร้างเขื่อนมาตรฐานถาวร การยกถนนให้สูงขึ้น เป็นต้น ถึงจุดหนึ่งถ้าเขามั่นใจ ระบบการรับประกันก็จะกลับสู่ระดับปกติ

“ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้กู้กันแน่ระหว่างการนิคมฯ ภาคเอกชนในนิคมฯ แต่เห็นว่า ช่วง 3 เดือนนี้ ต้องให้เขารับประกันภัยต่อ 10% ไปก่อน ที่เหลือเราต้องรับภาระไปพลาง ๆ โดยรัฐบาลจะพยายามเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อกลับไปรับประกันในอัตราเท่าเดิมต่อไป ซึ่งคาดว่า ต้องเดินสายอีกหลายรอบแน่นอน รอบแรกนี้เป็นเพียงการไปซับน้ำตาเขาเท่านั้น แต่ยืนยันว่ารัฐบาลคงจะไม่เข้าไปรับประกันฯแทนภาคเอกชน เพราะมีภาระใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว นั่นคือเรากำลังจะก่อหนี้เต็มเพดานอยู่แล้ว หากต้องรับประกันอีกไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้งบดุลมากเท่าใด และสุดท้ายก็ต้องใช้เงินในกระเป๋าของทุกคนนั่นแหละ ซึ่งมันไม่เมคเซ็นต์”

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะเชิญนิคมอุตสาหกรรม สหรัตนนคร มาหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันกับกระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน เนื่องจากเป็นนิคมฯ ที่ประสบปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสามารถในการกู้เงินไปทำเขื่อนหรือไม่ ส่วนนิคมฯ อื่น ๆ นั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องเอ็นพีแอล คาดว่าจะมีความสามารถกู้เงินไปดำเนินการได้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีหน้าต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น